ข่าวดีเศรษฐกิจอู้ฟู่ถ้วนหน้ายังมาไม่ถึง มีแต่ข่าวร้ายจาก องค์กรการเงินระหว่างประเทศทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) รวมทั้งหน่วยงานวางแผนของประเทศไทยคือคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ฟันธงตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงชะงักงัน โงหัวไม่ขึ้น การเติบโตยังจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้
ตามรายงานของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟที่ออกมาไล่เลี่ยกันในระหว่างที่คนไทยสนุกสนานกับงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ก็คือ การปรับลดตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจลง โดยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 ลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2559ที่ผ่านมาว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.4 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้าลง ราคาน้ำมันยังต่ำอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยังยืดเยื้ออยู่ในหลายประเทศที่เคยเป็นดาวรุ่ง
นี่เป็นการปรับลดลงเป็นรอบที่ 4 ในรอบหนึ่งปี
สอดรับกับธนาคารโลกที่คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างการผลิตที่ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายของสินค้าน้อย
ธนาคารโลก เตือนว่าไทยจะต้องเร่งปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตลอดจนดำเนินนโยบายเงินการคลังอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความผันผวนจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในอีกหลายประการ ทั้งจะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความชัดเจน ความผันผวนทางการเงินของโลก ปัจจัยเรื่องการเมืองภายในประเทศที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปที่อาจนำมาซึ่งความไม่พอใจจนนำไปสู่การประท้วงอีกครั้ง ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน รวมทั้งโครงสร้างประชากรในประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
กระนั้นก็ดี ขณะที่ธนาคารโลกยังมองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่หน่วยงานประเมินเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยกลับมองว่า ไม่ย่ำแย่ถึง ขนาด นั้น ดังเช่น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งประเมินออกมาล่าสุดโดยยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ระหว่างช่วง 2.8-3.8%ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจโลกไม่ชะลอตัวรุนแรงไปกว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน
นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปจนถึงครึ่งปี หลัง สภาพัฒน์มองว่ายังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ก็ให้ความหวังว่าจากการบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมีเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายวงเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ในปีนี้ อีกกว่า 400,000 ล้านบาท จะช่วยให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้
“ปีนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง แต่มาตรการภาครัฐก็ยังรองรับการกระตุ้น สศช.จึงยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจเดิมที่ตั้งไว้” นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ โปรยยาหอมเอาใจรัฐบาลและให้ความหวัง
สอดรับกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกไปแล้ว เช่น การเติมเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน การอัดฉีดเงินเข้าสู่ตำบลละ 5 ล้าน และพร้อมที่ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมลงไป รวมทั้งยังเตรียมออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่เป็นเขตที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยอยู่ระหว่างการออกมาตรการทางภาษีให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลสนับสนุน แต่การลงทุนในเขตภาคตะวันออกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
กระทรวงการคลัง ยังมีความหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีความล่าช้าเนื่องจากติดขัดในเรื่องกฎระเบียบ ครึ่งปีหลังนี้จะต้องเร่งการเดินหน้าโดยเฉพาะในเรื่องของรถไฟฟ้าสายต่างๆ ตอนนี้สายสีเหลือง สายสีชมพู ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ตอนนี้ที่ดู คือ สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ที่ต้องทำให้เกิดอย่างจริงจัง ส่วนมอเตอร์เวย์นั้นมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว
ด้านภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท. ระบุว่า กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตในกรอบ 3 -3.5% บนสมมุติฐานที่ว่าเงินเฟ้อโตอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยที่ 0.0-1%เนื่องจากส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 0-2% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้จะเติบโต 2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าการเร่งลงทุนของภาครัฐ แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาเป็นระยะๆ จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบประมาณการเดิมได้
จะมีก็แต่การวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เล็งหั่นเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงจากเดิม ศูนย์วิจัยฯยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ไว้ที่ 3% แต่จะมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หากปัญหาภัยแล้งยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศลดลง และส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศให้หดตัวลดลงตาม ทางศูนย์วิจัยฯ อาจพิจารณาลดการเติบโตของจีดีพีลงต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ไว้
สำหรับภาคส่งออก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดตัวเลขส่งออกปีนี้ลงเหลือ 0% จากเดิมคาดการณ์ขยายตัว 2% และมีโอกาสที่จะปรับลดลงอีกในเดือนมิถุนายนนี้ หากภาวะเศรษฐกิจจีนยังคงหดตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งมีโอกาสกระทบต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง
สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่จะมีเงินเข้ามาในระบบประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 0.4-0.6% ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) ของปีงบประมาณ 59 จำนวน 56,283 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในปีนี้ได้ 70% หรือประมาณ 39398 ล้านบาท ในขณะที่บ้านประชารัฐ 70,000 ล้านบาท คาดว่าจะส่งผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจเฉพาะในส่วนรีไฟแนนซ์30,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้าระบบในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเทศกาลสงกรานต์ การเติมเงินกองทุนหมู่บ้านรอบใหม่ และโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จะมีผลต่อจีดีพีไม่มาก เนื่องจากเป็นการจัดสรรจากงบประมาณเดิมเพื่อกระจายเงินไปยังส่วนต่างๆ
ขณะที่ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัดว่า เศรษฐกิจไทยที่มีความอ่อนแอ หากระบบการเงินยังคำนึงแต่การทำกำไรโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของสินเชื่อจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ซึ่งในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาถือว่าน่าเป็นห่วง และการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศโดยสนับสนุนให้สร้างหนี้นั้นเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะรายได้ขั้นต่ำและรายได้ภาคเกษตรหดตัวแต่หนี้ครัวเรือนกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่โตได้ร้อยละ 2 - 3ในภาวะที่การค้าโลกขยายตัวได้ร้อยละ 3- 4 ถือเป็นอัตราการขยายตัวตามปกติ ไม่ควรให้ความสำคัญแต่กับเรื่องตัวเลขการเติบโตมากนัก เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมคือการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง
นั่นเป็นการบ้านสำคัญที่ทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ในทุกภาคส่วน แต่ทว่าจะได้ผลหรือไม่ก็ต้องดูจากอายุของรัฐบาลว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะถ้าเศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้น ประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ถึงรัฐบาลบิ๊กตู่อยากจะอยู่ยาวแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน