เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวกระทบเศรษฐกิจไทยอาจปรับลดการเติบโตของจีดีพีไทยลง ขณะที่กำไร บจ.ลดลง แนะลงทองคำเพิ่ม และกระจายลงทุนไปหุ้นต่างประเทศมากขึ้น มองตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ในกรอบ 1,350-1,500 จุด จับตาร่าง รธน.ผ่านอาจดึงเงินต่างชาติไหลเข้า
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2559 ว่า ขณะนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง สะท้อนจาก IMF รอปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกลงอีก ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต่ำกว่าคาด และเศรษฐกิจจีนยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และยังมีปัญหาภาวะหนี้สิน นอกจากนี้ มุมมองต่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยจาก 4 ครั้งเป็น 2 ครั้ง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกยังฟื้นช้า
ดังนั้น ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกเติบโตติดลบ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ ทำให้จะเห็นได้ว่า เปิดต้นปีมานี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตแย่กว่าที่คาด อีกทั้งในปีนี้ยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและปัญหาภัยแล้งอยู่
อีกทั้งจากปัจจัยที่กล่าวมานี้ ทางบริษัทเตรียมปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ลงต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 3.2% รอประเมินตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาสแรกปีนี้ก่อน โดยเฉพาะตัวเลขส่งออก รวมถึงปัจจัยทางการเมืองช่วงกลางปีนี้ก็สำคัญเพราะจะเป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิรูปการเมืองในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนระยะยาวให้ความสำคัญเช่นกัน ส่วนกรณีเหตุการณ์ะระเบิดสนามบินที่เบลเยียมครั้งนี้ มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่จะเห็นการกำชับในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เพราะกรณีเหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นในบริเวณที่นักท่องเที่ยวยังไม่ได้เช็กอิน
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนทิศทางตลาดทุนไทยปีนี้ การทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะปรับคาดการณ์ของอัตรากำไรลดลง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังปรับขึ้นได้ยาก แต่ผลจากที่ประชุมเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ผ่านมา ทำให้ยังมีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นต่อเนื่องในช่วงระยะสั้น จึงเห็นค่าเงินบาทแข็งขึ้นช่วงที่ผ่านมาจน ธปท.เข้ามาต้องแทรกแซง เพื่อดูค่าเงินบาทไม่แข็งค่าต่ำกว่า 35 บาทต่อบาทต่อดอลลาร์ ประกอบกับที่ประชุม กนง. รอบนี้ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องจากปีก่อน และคาดว่าตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี ยกเว้นตามที่ผู้ว่าการ ธปท.ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้หากเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่เติบโตตามคาดภายใต้การดำเนินนโยบายการคลังไม่เป็นผล
ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้เราเห็นความพยายามของรัฐบาลออกมาตรการคลังเป็นรายสัปดาห์ เพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากปีก่อนไม่ให้เศรษฐกิจสะดุด โดยพยายามหาเงินเข้าสู่ระบบแต่ยากขึ้น ทั้งเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน จนถึงข้าราชการและอาจจะต่อยอดไปถึงผู้มีรายได้น้อยที่ต้องขึ้นทะเบียนกับธนาคารรัฐเพื่อพิสูจน์รายได้ มองว่าไม่ได้เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ในระยะยาวและการหาเงินใส่ในระบบจะยากขึ้น การกระตุ้นการบริโภคในประเทศทำได้ยาก ควรผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้น และปีหน้าจะมีเงินเข้ามา 300,000-400,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เชื่อว่ารัฐบาลก็คงทำต่อหวังกระตุ้นเหมือนๆ กับชอปช่วยชาติปลายปีและจะมีต่ออีกช่วงสงกรานต์นี้
“การลงทุนปีนี้ แนะนำว่าควรถือทองสัดส่วน 3-5% ของพอร์ตลงทุน ส่วนที่เหลือจัดสรรตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ตามอายุและความจำเป็น เช่น ถ้าอายุน้อย ไม่มีภาระค่าใช้จ่าย รองรับความได้เสี่ยงมาก สัดส่วนลงทุนหุ้นได้ถึง 70-80% และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงในภาวะตลาดเงินและตลาดผันผวน”
สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคาร ยอมรับว่ายังมองสวนทางตลาดที่มีมุมมองดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมองว่าปีนี้ภาคธนาคารพาณิชย์ระมัดระวัง สินเชื่อยังเติบโตไม่มากและยังคุมหนี้เสียอยู่ จากเห็นแนวโน้มหนี้เสียเริ่มขยายตัวในกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี คอมมูนิตี และการผลิต อีกทั้งบริษัทมองว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังแผ่วลงตามมุมองของ ธปท.ปรับจีดีพีปีนี้มาอยู่ที่ 3.1% จากเดิม 3.5% ยกเว้นภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวบริษัทถึงจะเปลี่ยนมุมมองใหม่ในทางที่ดีขึ้น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาด และเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังน่าเป็นห่วง ปัจจุบันยังประเมินจีดีพีปีนี้ที่ 2.7% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและลงทุนภาครัฐปีนี้คงเติบโตไม่ได้มากแล้ว ขณะเดียวกันการส่งออก ภาคบริการที่เริ่มชะลอตัวอาจทำให้กำลังซื้อลดลง และปัจจัยที่น่าห่วงรายได้ที่เริ่มทรงตัวของคนชั้นกลาง จากปกติรายได้เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่คนชั้นล่างเป็นคนกลุ่มใหญ่สัดส่วน 40% ของประชากรทั้งหมด ยังรอเงินอัดฉีดจากรัฐบาลมาใช้จ่ายเท่านั้น จึงเห็นปีนี้รัฐบาลต้องกระตุ้นการบริโภคจากคนชั้นบน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยสุดของประชากรทั้งหมด ซึ่งจีดีพีปีก่อนที่ 2.8% มาจาก 2 ปัจจัย คือ ท่องเที่ยว และลงทุนภาครัฐ มีสัดส่วนต่อจีดีพี 2.2% และ 1.5% หากเอา 2 ปัจจัยนี้ออกจีดีพีจะติดลบทันทีหรือเติบโตน้อยมากปีละ 1% ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นเช่นนี้มานานแล้ว
ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ในกรอบ 1,350-1,500 จุด และมีโอกาสขยับขึ้นแตะกรอบบน หากในช่วงกลางปีร่าง รธน.ผ่านได้ตามแผน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจะยิ่งดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติไหล ในกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นได้อีก จากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามามาก พบว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติสะสม ณ เดือนมีนาคมมีมูลค่าถึง 16,000 ล้านบาท นับว่าสูงสุดในรอบ 18 เดือน แต่ถ้าในช่วงที่เหลือเดือนนี้เพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 20,000 ล้านบาทจะถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี
“ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติทั่วไปถือครองหุ้นไทยที่ 27% ยังอยู่ระดับต่ำเพิ่มขึ้นก่อนหน้าที่ 26% หลังจากในอดีตที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขาย อีกทั้งปัจจุบันไทยยังดูดีที่สุด ทำให้ยังมีเงินต่างชาติในกลุ่มที่ตกขบวนรถไฟรอบแรกไปไหลเข้ามาอีก แต่จะอยู่นานแค่ไหนขึ้นกับเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่และการเมืองต้องชัดเจน หากดีขึ้น เงินต่างชาติก๊อกสองจะไหลเข้ามาอีกแน่นอน แต่ไม่ดีขึ้น ทั้งเงินก๊อกสองก็ไม่มา และเงินก๊อกแรกจะออกไปอีกด้วย”
สำหรับการเลือกหุ้นปีนี้ต้องดูที่อัตราการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนที่ยังจ่ายสม่ำเสมอ คาดว่าปีนี้เฉลี่ยที่ 4-5% ในกลุ่มไอซีทีที่ 6-7% ในขณะที่อัตราการทำกำไรคาดว่าปีนี้จะเติบโตหลักเดียวเฉลี่ยที่ 7-9% จากเดิมเติบโตสองหลัก
โดย 5 กลุ่มหุ้นที่ยังจ่ายปันผลดีต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ปีนี้ dividend yield 4% แม้จะยังมีหนี้เสียอยู่แค่เชื่อว่าไม่มีปัญหา กลุ่มไอซีที dividend yield 6-7% และเมื่อไม่มี JAS เข้ามาตลาดมองในแง่บวกมากขึ้น และ 3 บริษัทที่เหลือมีเงินลงทุนเหลือจากที่เตรียมไว้แข่งขันการตลาดไม่ต้องใช้นำกลับมาจ่ายปันผลได้ ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้างยังดีตามแผนการขับเคลื่อนลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีและก่อสร้าง ยังเห็นแนวโน้มจ่ายปันผลดี PE ยังสูง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังดีแต่ต้องเลือก ตลาดพันธบัตรผลตอบแทนไม่ดี คาดว่าภาวะตลาด 5-6 เดือนจากนี้อยู่ในภาวะ risk on ความกล้าเริ่มกลับเข้ามา ส่วนทองคำเป็นตลาดชั่วคราว เฟด 2 ครั้งทองไม่ไปไหน ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์จะกลับไปแข็ง อ่อนยังชั่วคราว ดังนั้นตลาดทองคำไม่สนใจ ส่วนราคาน้ำมันคงไม่สูงเท่าในอดีต ทุกอย่างผันผวน จับตาดูให้ดี ทำการบ้านกันเยอะๆ ลงทุนยากติดตามข้อมูลใกล้ชิด
สำหรับกรณี JAS หุ้นยังคาดเดายาก ต้องรอความชัดเจน กสทช.จะจัดการอย่างไร และทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากจ่ายชดเชยค่าเสียหายแค่ 600 กว่าล้านบาทก็ไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้ติดแบล็กลิสต์ในตลาดฯ อีก เชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานต้องเปลี่ยนไปแน่นอน