ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชียร์มาตรการลดหย่อนภาษี 15,000 บาท จัดปีละ 2 ครั้ง หลังพบช่วยดันอุตสาหกรรมค้าปลีกโต 3.05% จากที่คาดไว้ 2.8% ลุ้นปี 59 โตได้อีก 3.2-3.5% จากเมกะโปรเจกต์และภาคการท่องเที่ยว ฟากรีเทลพร้อมอัดงบ 20,000-40,000 ล้านบาทผุดสาขาใหม่ต่อเนื่อง พร้อมเสนอ 7 ข้อต่อภาครัฐหวังช่วยค้าปลีกโต
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2558 อุตสาหกรรมค้าปลีกมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาทจะเติบโตเพียง 2.8% แต่หลังจากที่รัฐบาลชูมาตรการชอปปิ้งช่วยชาติ ในช่วงท้ายปีทำให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 58 สามารถนำเงินค่าซื้อสินค้า หรือบริการที่ได้จ่ายไปมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการจับจ่ายโดยเฉพาะในผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
แม้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้จะมีราว 3.2 ล้านคนจากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน (ข้อมูลปี 2556) แต่ก็เป็น 3.2 ล้านคนที่ยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรง มาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านภาคการค้า (ค้าปลีก ค้าส่ง และภัตตาคาร ร้านอาหารที่อยู่ในระบบภาษี) เป็นช่องทางที่ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในวงจรเศรษฐกิจถึงกว่า 2-3 เท่า เนื่องจากภาคการค้ามีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงกว่า 3.5 ล้านคน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ถึงกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน
มาตรการ “ชอปพื่อชาติ” มุ่งเน้นไปยังผู้ที่อยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้องของภาครัฐ ทั้งผู้ประกอบการที่ต้องสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และผู้บริโภคที่เป็นผู้มีรายได้พึงประเมินและเสียภาษีประจำปี จากผลการศึกษาของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเก็บภาษีให้ได้ร้อยละ 21.35 ของจีดีพี แต่ปรากฏว่าภาครัฐเก็บได้เพียงร้อยละ 16.02 ของจีดีพีเท่านั้น
นอกจากนี้ จากการศึกษาโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล พบว่ามีผู้ประกอบการจดทะเบียนในรูปบริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งหมดเพียง 327,127 ราย ในขณะที่มีผู้จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากว่า 2.7 ล้านราย ซึ่งหมายความว่ามีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจเข้าสู่ระบบโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล เพียงแค่ร้อยละ 12 มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการแยบยลที่จูงใจให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ต่อการเข้าระบบโครงสร้างภาษีนิติบุคคลมากขึ้น ในขณะเดียวกันบุคคลธรรมดาก็เต็มใจที่จะเข้าสู่โครงสร้างภาษีบุคคลมากขึ้นเช่นกัน
“มาตรการชอปปิ้งช่วยชาติโดยการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-4 ม.ค. 59 เป็นต้นมาพบว่ากำลังซื้อยังดีต่อเนื่องโดยไม่ได้หายไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ จึงมองว่าการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสหนึ่งของปี 2559 ยังมีต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีเงินอยู่ เพราะมาตรการชอปช่วยชาติเป็นเพียงเม็ดเงินระดับกลางที่เข้าสู่ระบบไม่ได้เป็นพันธะก่อหนี้อย่างมาตรการรถยนต์คันแรกที่ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยหลังจากนี้ยังจะมีเทศกาลตรุษจีนตามมาอีก จึงมองว่ากำลังซื้อในไตรมาสหนึ่งยังจะดีอยู่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ถือเป็นช่วงโลว์ซีซัน ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องจ่ายค่าเทอม รวมถึงเป็นช่วงโลว์ซีซันของภาคการท่องเที่ยว จึงมองว่านโยบายชอปช่วยชาติน่าจะมีขึ้น 2 ครั้งต่อปี คือ ช่วงปลายปี และกลางปี โดยไม่ควรประชาสัมพันธ์ทิ้งไว้นาน เพราะคนจะอั้นเงินเพื่อไว้ชอปในเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามดัชนีของ สมาคมค้าปลีกไทย ในปี 2558 ประมาณการว่า
1. ช่วง 9 เดือนแรกเศรษฐกิจมุ่งปรับโครงสร้างและส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ตรงเป้าหมาย
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเดือน ก.ย. 58 มูลค่า 136,000 ล้านบาท ช่วยรากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มาถูกทาง
3. ผลจากมาตรการชอปช่วยชาติ ทำให้กำลังซื้อมั่นใจและมีอารมณ์ใช้จ่ายมากขึ้น หรือน่าจะทำให้ช่วงปีใหม่มีการจับจ่ายมากขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกว่า 125,000 ล้านบาท
4. ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ทำให้ค้าปลีกโตขึ้น 3.05% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 2.8%
5. ทิศทางเศรษฐกิจปี 59 เชื่อว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมาจากกลไกภาครัฐเป็นหลัก
“ในปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกจะเติบโตขึ้นได้ราว 3.2-3.5% มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ เมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง เขตเศรษฐกิจพิเศษ และรถไฟฟ้ารางคู่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าดึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมากกว่า 30 ล้านคน ขณะที่ปัจจัยลบที่อาจจะทำให้การเติบโตไม่เป็นไปตามที่วางไว้คือ ภาคการเกษตรกับราคาพืชผลที่ตกต่ำทำให้กลุ่มกำลังซื้อรากหญ้ายังไม่ดี และเมกะโปรเจกต์ภาครัฐไม่เดินไปตามเวลาที่กำหนดไว้” นางสาวจริยากล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนภาคค้าปลีก หรือรีเทลต่อปีจะมีการลงทุนจากภาคเอกชนในการขยายสาขาใหม่ไม่ต่ำกว่า 20,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยตามมา ทำให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมทั้งมีเรื่องของการทำโปรโมชันส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
นาวสาวจริยากล่าวต่อว่า สมาคมฯ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 7 ข้อในการที่จะช่วยเศรษฐกิจและค้าปลีกเติบโตขึ้น คือ
1. ถือเป็นปีแรกที่ค้าปลีกทั้งระบบเติบโตแบบติดลบ สาเหตุหลักจากกำลังซื้อบางส่วนอ่อนแอและการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2. รัฐต้องเร่งการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
3. รัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น เน้นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงบน ซึ่งกำลังซื้อยังแข็งแรง
4. รัฐต้องเร่งมาตรการสร้างความเชื่อมั่นสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวควรมีนโยบายการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ให้สะดวกมากขึ้น
5. ภาคท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ควรพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มลักชัวรีแบรนด์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 1,208 บาทต่อคนต่อวัน เทียบกับสิงคโปร์สูงกว่าไทย 2 เท่า เทียบกับฮ่องกงสูงกว่าไทย 4 เท่า
6. พิจารณามาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ขายสินค้าทันที และใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% สำหรับต่างชาติ ด้วยวงเงินขั้นต่ำตามหลักที่กฎหมายกำหนด
7. รัฐต้องพิจารณาส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจปลอดภาษีทั้งในและนอกสนามบินเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี พร้อมมีจุดส่งมอบสินค้าในทุกสนามบินนานาชาติที่มีร้านปลอดอากรตั้งอยู่ เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น