xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” โล่งใจ ครม.ช่วยสวนยาง ขอหยุดขายในสต๊อกชั่วคราว แนะนิรโทษกรรมต้นซอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” เผยโล่งใจ ครม.มีมติช่วยสวนยาง แต่อนาคตยังน่าห่วง ขอร่วมมือเข้าใจกันแก้ปัญหา แนะรัฐหยุดขายยางในสต๊อกชั่วคราว เปิดช่องให้เกษตรกรขายยางใหม่ ต้องมีมาตรการเชิงรุกเป็นหลักประกันหากต้องทำอาชีพเสริม เหตุไม่มีใครอยากเสี่ยง ชี้ปรองดองอย่ามองเรื่องบุคคล กลุ่ม ต้องมองภาพรวม ไม่ล้างผิดเรื่องทุจริต แนะนิรโทษกรรมต้นซอยคดีเล็ก

วันนี้ (14 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของรัฐบาลว่า ตนรู้สึกโล่งใจหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติช่วยเหลือชาวสวนยางซึ่งเกษตรกรก็ดูจะพึงพอใจระดับหนึ่งทำให้การเคลื่อนไหวดูสงบลง แต่ถ้ามองไปข้างหน้าต้องบอกว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่ จึงอยากจะให้ทั้งรัฐบาลและชาวสวนยางร่วมมือกันด้วยความความเข้าอกเข้าใจถึงสถานการณ์ความยากของการแก้ไขปัญหา พร้อมกับความมั่นใจของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาแบบต่อเนื่องจริงจังด้วย เนื่องจากราคายางพารานั้นได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย แต่ต้องเข้าใจหัวอกชาวสวนยางว่า ปัญหานี้เป็นภาวะที่กระทบกระเทือนรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายพื้นที่ของภาคใต้ คือ ชีวิตจิตใจหรือตัวเศรษฐกิจหลักของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข เพราะกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจภาพรวมในแง่ของกำลังซื้อ

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการพยายามรับซื้อยางจากเกษตรกรนั้น ตนมองว่าไม่เป็นวิธีการหลัก เพราะการที่รัฐบาลไปรับซื้อในขณะนั้น แล้วเก็บเข้ามาอยู่ในสต็อกไม่ได้ทำให้ดุลระหว่างความต้องการการผลิตเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกร้อง คือ ทำอย่างไรจะเพิ่มความต้องการในการใช้ยางพาราได้ และทำอย่างไรจะบริหารตัวสต๊อกเพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยร่วมกับประเทศในอาเซียนได้ เพราะต้องถือว่าต้องมีอำนาจเหนืออำนาจตลาดโลกระดับหนึ่งด้วย และรัฐบาลมีนโยบายทั้งเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องคลัสเตอร์ ก็อยากให้มีความชัดเจนว่าจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราในการส่งเสริมการลงทุน หรือแปรรูปเพิ่มเติมได้อย่างไร นอกจากนี้ สต๊อกยางเก่าที่มีอยู่นั้นเกษตรกรเรียกร้องว่าการบริหารสต๊อกของรัฐในปัจจุบันยังมีการนำเอายางส่วนนี้ออกมาขาย เมื่อนำออกมาขายก็ทำให้เกษตรกรที่จะขายยางที่ออกมาใหม่นั้นขายยากขึ้นมาก ตรงนี้รัฐจะมีจุดยืนได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเอายางพาราในสต๊อกที่รัฐบาลเคยเก็บไว้นั้นออกมาขาย เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ก็แล้วแต่รัฐจะช่วย

“สุดท้ายถ้ามองว่าพื้นที่ทำสวนยางสมควรจะมีการเริ่มปรับเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นเสริม ผมก็อยากให้มีการทำนโยบายในเชิงรุกว่ารัฐจะช่วยอะไรบ้าง ไม่ใช่คนที่อยากจะร่วมมือกับรัฐนั้นต้องแบกความเสี่ยงทั้งหมด และการที่รัฐบาลพูดถึงการมีกฎหมายยางฉบับใหม่ มีการตั้งกรรมการ ตั้งผู้บริหาร อยากให้เร่งทำตรงนี้ เพราะแม้ว่าสถานการณ์การเมืองดูจะคลี่คลายลงไปในเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ผมยอมรับว่าไม่ง่ายที่จะยกระดับราคายางขึ้นมา โดยเฉพาะในถึงระดับที่เราเห็นว่ามันรวมไปถึงคลังเกษตรกรชาวสวนยางก็ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลก็คงไม่สามารถไปเนรมิตราคาได้ แต่รัฐบาลยังยอมเสียเงิน 5 พันล้าน เพื่อโครงการชอปช่วยชาติสำหรับคนที่มีเงินซื้อของ เพราะฉะนั้นตนไม่ค่อยอยากให้เกิดความรู้สึกว่าทำไมพอจะช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง ต้องมีการมาพูดว่า เงินไม่มีหรืออะไรต่างๆ ผมเข้าใจดีว่าจะให้เอาเงินมาทุ่มเป็นหมื่นแสนล้านบาท ก็คงไม่ได้ แต่ว่ารัฐก็ต้องทำเพื่อช่วยในระดับหนึ่ง และต้องมีตัวอื่นเสริม โดยเฉพาะเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเรื่องการศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่า ตนไม่อยากให้มองว่าการทำเรื่องปรองดองจะไปอยู่ที่คณะบุคคลชุดใดชุดหนึ่ง ที่ผ่านมาก็มีคณะทำงานเช่นนี้หลายชุดแล้วต้องยอมรับว่ามาตรการไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนตัวมองว่าเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ ถ้าพยายามมองเป็นเรื่องของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลนั้น เราจะหลงทาง เพราะที่ประเทศเกิดวิกฤติมาจนมีการรัฐประหารนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม บนความเชื่อที่ว่าบ้านเมืองมีความขัดแย้ง คนมีความผิดติดตัวจึงต้องไปล้างผิดให้เขา จนลืมไปว่าคนที่ไม่ได้ทำผิดเขาไม่ได้ต้องการที่จะเห็นสังคมเดินไปในแนวทางที่ไปล้างผิดทั้งเรื่องทุจริต เพราะฉะนั้นเวลาทำเรื่องนี้ ต้องคิดถึงคนที่ทำงาน และไม่ได้มองแค่ว่าต้องเป็นคู่ขัดแย้งด้วย เนื่องจากต้องมองสังคมในภาพรวม

“ถ้าจะทำเรื่องปรองดองผมอยากให้ความสำคัญกับการวางกฎกติกาสำหรับอนาคตดีที่สุด และเรื่องการปฏิรูปก็คือหัวใจ เช่น การปฏิรูปสื่อว่าจะทำอย่างไรให้สื่อมีบทบาทในการลดความขัดแย้ง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย และให้แต่ละฝ่ายที่คิดต่างกันสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันโยไม่ขัดแย้งกัน และไม่รุนแรง ส่วนประเด็นปัญหาในอดีตเกี่ยวกับคดีความต่างๆ อยากจะเห็นรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่เรียกว่าต้นซอย คือ ประชาชนที่ไปชุมนุมโดยสุจริต มีความผิดเล็กน้อย ส่วนคนอื่นให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้ามีความคิดต่อไปในอนาคตว่าอาจจะต้องมาพิจารณากันเรื่องการอภัยโทษหรือไม่ อย่างไร ก็ว่าไปตามกระบวนการ น่าจะดีที่สุด” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น