ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการประชุม กนง.ครั้งที่ 2 วันที่ 23 มี.ค.59 ยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% เพื่อรอประเมินทิศทาง ศก. และปัจจัยเสี่ยงอีกระยะหนึ่ง โดยมีเหตุสนับสนุนหลัก 2 ประการ สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา ได้แก่ บริบทการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งทิศทางของเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้า
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งที่ 2 ของปี 2559 ในวันที่ 23 มีนาคม 2559 นี้ เพื่อรอประเมินพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง โดยมีเหตุสนับสนุนหลัก 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก มาตรการการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐในปัจจุบันน่าจะเพียงพอที่จะช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าได้ หากไม่มีเหตุการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังคงทำได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งการใช้งบกลางในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และมาตรการบรรเทาผลกระทบของเกษตรกร น่าจะช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ได้ในระดับหนึ่ง
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ตลาดเงิน และตลาดทุนยังคงมีความผันผวนสูง อาจลดทอนประสิทธิภาพในการส่งผ่านผลของนโยบายดังกล่าวไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าทางการไทยจะยังมีความยืดหยุ่นที่จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มได้อีก แต่คงต้องยอมรับว่า พื้นที่ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจจะเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น หากมีการเร่งรีบใช้นโยบายการเงินกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวดเร็วเกินไป ท่ามกลางสภาวะที่ตลาดเงิน และตลาดทุนมีความผันผวนสูง ซึ่งจะทำให้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพลดลง
ดังนั้น การเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน และเก็บทางเลือกของการลดดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อใช้ในจังหวะที่จำเป็น คงน่าจะมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่ กนง.กำลังเผชิญในการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจเปิดโอกาสให้ กนง. สามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ การที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50% ในการประชุมเฟดเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่เฟดได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้งในปี 2559 นี้ อันเป็นการบ่งชี้ถึงเส้นทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่เลื่อนออกไป
ทั้งนี้ การส่งสัญญาณถึงการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเฟด คงจะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นมากขึ้นที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มได้อีกในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม เช่น ความก้าวหน้าของการส่งออก รวมถึงประเด็นเรื่องภัยแล้ง และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา ได้แก่ บริบทการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งทิศทางของเงินบาท โดยต้องยอมรับว่า ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมตามธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคต ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของกระแสเงินทุนในภูมิภาค รวมทั้งไทยได้ โดยหากพิจารณาถึงดัชนีค่าเงินบาท (THB NEER) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ซึ่งคงเป็นอีกปัจจัยที่ทางการคงจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนเคลื่อนไหวในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยรวม