xs
xsm
sm
md
lg

“ทริส เรทติ้ง” มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้มในปี 2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทริส เรทติ้ง มองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมในปี 2558 ที่ผ่านมานั้นต้องเผชิญต่อปัจจัยลบหลายประการ เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ เศรษฐกิจของประเทศจีนที่ชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนของไทยที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทริส เรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาน่าจะขยายตัวประมาณ 3% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.9% ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐได้เร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นภาคบริการที่สำคัญซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดยถึงแม้จะเกิดเหตุระเบิดในย่านใจกลางเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคงมีความเชื่อมั่น และเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ทริส เรทติ้งเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบาง และได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ด้านการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวน้อย ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชน และภาคการส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2559 ทริส เรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา จากปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศเป็นหลัก กระนั้นอัตราการขยายตัวก็จะยังคงมีข้อจำกัดจากปัจจัยเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และภายนอกประเทศ โดยทริส เรทติ้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.0%-3.5%

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

- การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2559 จะมีโครงการคมนาคมที่พร้อมประมูลตลอดทั้งปีวงเงินประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการเงินการคลังระยะสั้นที่ออกมาเป็นระยะ

- ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนราว 30.9 ล้านคน

- การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน

- การลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ แต่การขยายตัวอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการส่งออกของไทยซึ่งทำให้การลงทุนผลิตเพื่อส่งออกลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีมาตรการที่จะนำมาใช้ส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจในระยะต่อๆ ไป

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

- ภาคการส่งออกของไทยยังไม่ขยายตัวได้ดีเท่าที่ควรซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องด้วย

- ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยได้ รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศเช่นกัน

- ปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมและรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำมาก

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ทริส เรทติ้งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น และต่อเนื่องจากปี 2558 จากตัวเลขดัชนีชี้วัดด้านการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 หลังจากดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ 76.1 และตัวเลขดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (ปรับฤดูกาล) จากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็นและกลุ่มสินค้าบริการ และคาดว่ามาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนก็น่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคให้มีมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ ทริส เรทติ้งประมาณการอัตราการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2559 โดยปัจจัยที่กระตุ้นการบริโภคมี ดังนี้

- มาตรการและนโยบายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งทำให้ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับลดลง

- ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐมีมาตรการ และนโยบายสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคเอกชนหลายมาตรการ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านสินเชื่อ และการลดหย่อนภาษี ตลอดจนการลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบลที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อปลายปี 2558 วงเงินรวม 36,725 ล้านบาทด้วย ซึ่งแต่ละตำบลจะได้รับงบประมาณในวงเงิน 5 ล้านบาท โดยได้มีการทยอยจ่ายไปยังตำบลต่างๆ แล้วทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีที่ผ่านมา ภาครัฐยังได้ออกมาตรการชอปปิ้งช่วยชาติ โดยประชาชนที่ซื้อสินค้า หรือใช้บริการระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 สามารถนำใบกำกับภาษีรวมมูลค่ารวมไม่เกิน 15,000 บาท ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2558 ได้ เป็นต้น คาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

- จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผลักดันมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ ทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีข้อจำกัดจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 81% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจากผลของราคาสินค้าการเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าในปีที่ผ่านมา แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันก็ตาม โดยทริส เรทติ้งคาดว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 2559 จะขยายตัว 3.9% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

- มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย

- การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้น

- การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2559 ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจตัดสินใจลงทุนเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวช้า และผู้ประกอบการที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่เป็นจำนวนมากนั้นก็ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนลงไป

การลงทุนภาครัฐ

ทริส เรทติ้งคาดว่า การลงทุนภาครัฐของไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทริส เรทติ้งประมาณการอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐว่าจะเท่ากับ 8.4% โดยคาดว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีการประมูลโครงการคมนาคมได้ตลอดทั้งปี รวมถึงจะออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ดังนี้

- มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลในวงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการที่เสนอแล้วในปีงบประมาณ 2559 ในวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท และยังมีโครงการใหม่ที่รอเสนออีกในวงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

- ช่วงครึ่งแรกของปี 2559 คาดว่าจะมีโครงการคมนาคมระยะเร่งด่วนเข้าประมูลราว 20 โครงการ โดยมีวงเงินประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าการลงทุนในระยะยาวจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชน ทั้งนี้ โครงการคมนาคมที่พร้อมประมูลในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ค้างอยู่ เช่น รถไฟฟ้าทางคู่ 4 สาย รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ มอเตอร์เวย์ 3 สาย โครงการรถไฟไทย-จีน รวมถึงรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น หากรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เต็มประสิทธิภาพที่ตั้งไว้ก็น่าจะมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในปี 2559 จะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน

การส่งออกของไทย

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2559 อาจจะยังไม่ขยายตัวนัก โดยทริส เรทติ้งประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยว่าจะขยายตัวเพียง 1% เนื่องจากการส่งออกของไทยต้องเผชิญต่อปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน ซึ่งมูลค่าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศจีนมีสัดส่วนประมาณ 11% ของตลาดส่งออกทั้งหมด โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) คาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 6.3% จากผลของการที่ประเทศจีนมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภายในและต้องการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับกลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคชะลอตัวและมีการลดการนำเข้าลง นอกจากนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมีการนำเข้าสินค้าลดลงตามไปด้วย

- สถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกชะลอการบริโภค ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงด้วย

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยอีกประเทศหนึ่ง และในปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปประเทศสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างจากภาวะภัยแล้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น