xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2559 คนไทยต้องรัดเข็มขัด ส่งออกไม่ฟื้น-กำลังซื้อหด-ค่าเงินผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจปี 59 ซึมต่อ แม้มีปัจจัยบวกเข้ามาบ้างจากน้ำมันที่ลดลง แต่น้อยเกินไปที่จะปลุกกำลังซื้อของคนในประเทศ ส่งออกยังไม่ดี รถยนต์ใหม่แพงขึ้นจากภาษีสรรพสามิต สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย เงินทุนไหลกลับ จับตาหากขึ้นถี่ ขึ้นแรง ตลาดเงินผันผวน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังหาแววฟื้นไม่เจอ แนะประชาชนรัดเข็มขัดกันต่อไป

ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2558 เป็นการฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งสิ้นปีนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% แม้ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะสงบจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ปัญหาทางการเมืองยุติลงด้วยการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและรับภาระบริหารประเทศต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

แต่เศรษฐกิจในปี 2558 ก็ยังประสบปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศที่ส่งต่อมา มีเพียงการลงทุนจากภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่พยุงเศรษฐกิจไว้ได้ คาดกันว่าสิ้นปี 2558 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2.8%

ขณะที่ในปี 2559 ปัจจัยเดิมๆ จากปี 2558 ยังคงส่งผลกระทบตามมาอีก พร้อมด้วยเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงเข้ามากระทบ ประเมินกันว่าเศรษฐกิจในปี 2559 จะเติบโตมากกว่าปี 2558 เพียงเล็กน้อย โดยคาดกันว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% บวกลบได้ 0.5%

จับตาดอกเบี้ยสหรัฐฯ

นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวว่า ในปี 2559 มีปัจจัยที่จะต้องจับตาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่มิถุนายน 2549 หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมา 9 ปีเศษ

สำหรับประเทศไทยผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมทำให้เงินทุนไหลออกเหมือนกับทุกประเทศ เพียงแต่ระดับความรุนแรงไม่มาก เนื่องจากมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไม่มากนัก ทำให้ค่าเงินบาทยังไม่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

“เราต้องดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างไร เพราะหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถี่ หรือปรับขึ้นในอัตราที่สูง ตรงนี้จะเป็นการกระตุกให้มีเม็ดเงินไหลออกจากประเทศต่างๆ กลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยในสหรัฐฯ คงดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้าขึ้นเร็วไปหรือขึ้นมากไปก็จะเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง”

แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น ประเทศไทยจะคาดหวังว่ากำลังซื้อในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นและหันกลับมาบริโภคเหมือนเดิมนั้นคงไม่ใช่ เพราะหลังจากสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พฤติกรรมการบริโภคของคนในสหรัฐฯ ย่อมเปลี่ยนไปหาสินค้าทดแทนที่มีราคาต่ำกว่าหรือยังต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเช่นเดิม

ภายในรถยนต์ฝืด-ภัยแล้งซ้ำ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศในปี 2559 นั้น ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ โดยรถยนต์ที่เกินจากระดับอีโคคาร์ราคาจะปรับขึ้นอีกมาก เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน แต่ในภาพรวมนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถของภาคประชาชน

ดังนั้นปี 2559 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเติบโตได้อย่างจำกัด นับตั้งแต่หมดโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะได้ดูดดีมานด์ล่วงหน้ามาใช้ ทำให้หลังจากนั้นตลาดรถยนต์ภายในประเทศเริ่มซบเซา ยกเว้นช่วงปลายปี 2558 ที่ยอดจำหน่ายรถยนต์มีเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะคนส่วนหนึ่งรีบตัดสินใจซื้อก่อนที่จะมีการปรับราคาในปี 2559

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ต้องรอดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่ารุนแรงแค่ไหนคือ ภัยแล้ง ปี 2558 ปัญหาภัยแล้งอยู่ในระดับที่รุนแรงกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร คาดกันว่าปี 2559 ภัยแล้งยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากระดับน้ำสำรองในเขื่อนที่มีปริมาณน้อย

ส่วนปัจจัยที่เหลือนั้นภาคการเมืองภายในประเทศน่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่ภัยการก่อการร้ายในต่างประเทศ ต้องดูเรื่องการขยายวงและการเข้าจัดการปัญหาของประเทศที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาภัยแล้งที่เกรงกันว่าจะเกิดขึ้นอีกในปี 2559
น้ำมันลดแต่ราคาสินค้าไม่ลด

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เกิดขึ้นในปี 2558 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2559 อยู่อย่างมีนัยสำคัญเช่นกันทั้งด้านบวกและด้านลบ

ในด้านบวกนั้นราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมามาก ทำให้ไทยมีตัวเลขเกินดุลบัญชี ช่วยให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนลงอย่างรวดเร็ว แม้ค่าเงินบาทจะไม่แกว่งตัวมาก แต่ก็ทำให้การบริหารต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องลำบากเช่นกัน ต้องมีการหาทางปกป้องความเสี่ยงจากค่าเงินด้วย เช่น กลุ่มส่งออก นำเข้าหรือกลุ่มเทรดเดอร์ แต่โดยรวมแล้วก็ยังไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย

แม้ในทางทฤษฎีแล้วราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยทำให้กำลังซื้อของภาคประชาชนสูงขึ้น เงินในกระเป๋าอาจมีเหลือมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ช่วยปลุกกำลังซื้อได้มากนัก เนื่องจากค่าครองชีพและราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยยังไม่อยู่ในสภาวะที่ดีขึ้น เดิมตลาดหลักอย่างยุโรปและสหรัฐฯ มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เรายังพึ่งพาจีนได้ แต่เมื่อจีนควบคุมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจึงทำให้สินค้าของไทยเจอทางตันแทบทุกด้าน สินค้าเกษตรของไทยอย่างยางพาราจึงประสบปัญหาราคาตกต่ำ เมื่อบวกกับสถานการณ์โดยรวมในปี 2559 นี้ภาคการส่งออกของเรายังไม่ดีขึ้น

สิ่งที่เราห่วงว่าจะเป็นการซ้ำเติมอีกประการหนึ่งคือเรื่องภัยแล้ง ปี 2559 มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะภัยแล้งเหมือนปี 2558 ตรงนี้จะกระทบกับเรื่องของผลผลิตของเกษตรกร ถือว่าแย่กว่าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเสียอีก หากผลผลิตเสียหายก็เท่ากับพวกเขาจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย

กำลังซื้อไม่กระเตื้อง

จากปัจจัยทั้งหมด ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ เราเจอปัญหานี้มาแล้วนับตั้งแต่สิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก คนชนชั้นกลางที่ใช้สิทธิ์จะถูกล็อกไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ 5 ปี 1 ล้านครอบครัวที่ใช้สิทธิ์ต้องผ่อนชำระจนครบสัญญา

ส่วนคนที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ก็ต้องจับจ่ายอย่างระมัดระวังจากค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ บางกลุ่มต้องเผื่อความไม่แน่นอนในสถานที่ทำงาน แน่นอนว่าค่าล่วงเวลาหรือโบนัสได้น้อยกว่าเดิม

ขณะที่กำลังซื้อหลักจากกลุ่มเกษตรกรหดหายไป ทั้งจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากเราน้อยลงทำให้ยอดส่งออกย่ำแย่ และอาจเจอเรื่องภัยแล้วเข้ามาอีกตรงนี้จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ผลพวงเหล่านี้ส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกำลังซื้อในประเทศหดหายไป การบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ย่อมต้องลดลง ส่งผลต่อยอดขายของหลายธุรกิจ ดังนั้นจึงทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีข้อจำกัด
การส่งออกสินค้าจากไทยยังไม่มีสัญญาณในด้านบวก
รอความหวังรัฐปลุกความมั่นใจ

ตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังเป็น 2 ตัวหลังจากปี 2558 คือการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ยังรั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะติดลบได้ อีกตัวหนึ่งที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยคือการลงทุนของเอกชนที่ประมูลคลื่น 4G จากทาง กสทช. เพราะต้องมีการวางโครงข่ายเพื่อให้บริการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมาการกระตุ้นจากภาครัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกะโปรเจกต์ ยังไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นครั้งหนึ่งก็ทำได้ระยะหนึ่งหลังจากนั้นทุกอย่างก็จะหยุดลงเหมือนเดิม เกษตรกรจึงได้รับการช่วยเหลือไม่ต่อเนื่อง รวมไปถึงโชคไม่ดีที่ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ จึงไม่สามารถปลุกกำลังซื้อของกลุ่มนี้ขึ้นมาได้ หรือการลดค่าธรรมเนียมในการโอนบ้านก็สร้างความคึกคักให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ได้ระดับหนึ่ง

ล่าสุดมีความพยายามที่จะให้มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี 2558 ที่กระทรวงการคลัง ด้วยการออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ

ตรงนี้เป็นเรื่องของการกระตุ้นชั่วคราว เพราะก่อนหน้านี้ก็ให้สิทธิ์ในเรื่องห้องพักเพื่อให้คนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ อย่างไรก็ตามถ้ายังไม่สามารถสร้างภาพรวมให้ประชาชนมีความมั่นใจ กล้าใช้จ่ายแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่ยาก

ประคองตัวเองจ่ายเท่าที่จำเป็น

เราไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจปี 2559 แย่ เพียงแค่ดีขึ้นกว่าปี 2558 เพียงเล็กน้อย ซึ่งเศรษฐกิจไทยแทบจะไม่โตมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งหากปัจจัยจากต่างประเทศยังไม่คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยก็จะซึมไปอย่างนี้เรื่อยๆ แน่นอนว่าในภาคธุรกิจก็ต้องหาทางปรับตัว เพื่อประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ ทั้งเรื่องการปรับลดต้นทุนหรือป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตัวเองหรืออาจต้องยอมลดกำไรลง

ส่วนภาคบุคคลในปี 2559 ก็ไม่แตกต่างจากช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ เพราะเป็นผลที่ต่อเนื่องกันมา การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังยังคงเป็นสิ่งพึงกระทำเป็นลำดับแรก แม้ว่าข้อแนะนำนี้จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ลำบาก แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านต้องช่วยตัวท่านเองไว้ก่อน

ควรวางแผนในการใช้จ่ายเงินให้ดี เลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น สิ่งของบางรายการที่อยากได้หากชะลอได้ให้ชะลออกไปก่อน หลีกเลี่ยงการสร้างภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ พยายามออมเงินไว้ก่อน โดยเฉพาะพนักงานบริษัทเอกชนเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

จริงๆ แล้วเศรษฐกิจในปี 2559 นั้นไม่ได้แย่ไปกว่าปี 2558 ปัจจัยที่เป็นลบเริ่มน้อยลง มีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนของเอกชนขึ้นมาบ้าง เพียงแต่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนได้จึงทำให้ทุกคนต้องระวังในเรื่องการใช้จ่าย หากรัฐบาลสามารถสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เห็นชัดเจน ย่อมช่วยให้ผู้คนกล้าจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีช่วยให้เศรษฐกิจในปี 2559 นั้นดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น