xs
xsm
sm
md
lg

แยกบริหารแอร์พอร์ตลิงก์คืบ คลังพร้อมจ่ายทุนค้าง 1,860 ล้านเสริมแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แยกบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ชัดเจน โอนแค่ตัวรถ 9 ขบวน ส่วนรางและโครงสร้าง ร.ฟ.ท.เป็นเจ้าของ “วุฒิชาติ” เร่งเคลียร์ทุกข้อแยกเบ็ดเสร็จในปีนี้ ด้าน “แอร์พอร์ตลิงก์” เตรียมขอทุนจดทะเบียนที่เหลือจากคลัง 1,860 ล้านบาท แบ่งก้อนแรก 420 ล้านบริหารหมุนเวียน เล็งพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ คาดปี 61 เห็นกำไร

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแยกทรัพย์สินและการบริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) ออกจาก ร.ฟ.ท.ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้แน่นอน ซึ่งจะทำให้การบริหารงานของ แอร์พอร์ตเรลลิงก์มีความคล่องตัวมากขึ้น โดย ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% แต่ระบบงบประมาณรายได้รายจ่าย การจัดซื้อจัดจ้างทางแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะดำเนินการเอง และทำให้สามารถตรวจสอบศักยภาพในการบริหารของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ชัดเจน และทำให้ทราบต้นทุนในการเดินรถอีกด้วย

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ข้อตกลงในการแยกบริหารนั้น ทาง ร.ฟ.ท.จะโอนเฉพาะตัวรถไฟฟ้า 9 ขบวนให้กับบริษัทฯ เท่านั้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง อาณัติสัญญาณต่างๆ ยังคงเป็นของ ร.ฟ.ท. โดยบริษัทฯ จะต้องเช่ารางจาก ร.ฟ.ท.เพื่อใช้งาน โดยค่าเช่ารางนั้นจะจ่ายในรูปของการดูแลซ่อมบำรุงรางให้แทน รวมถึงการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณด้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณปีละ 100 ล้านบาท

โดยแอร์พอร์ตเรลลิงก์มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 10% ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 6 หมื่นคนต่อวันนั้นทำให้การเติบโตของรายได้อยู่ที่ประมาณ 10%ต่อปีด้วย ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงแต่มีปัญหาคือ ยังไม่มีรถใหม่มาให้บริการเพิ่มเท่านั้น โดยปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้ 560 ล้านบาท คาดปี 2559 รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 640-650 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายประมาณปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งหลังจากแยกบริหารและโอนทรัพย์สินเรียบร้อย บริษัทฯ จะได้รับเงินทุนจดทะเบียนจากกระทรวงการคลังที่ยังเหลืออีก 1,860 ล้านบาท โดยจะแบ่งรับเป็น 3 งวด งวดแรกจำนวน 420 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับภายใน 2 ปีจากนี้ ซึ่งประเมินว่าตั้งแต่ปี 60-61 บริษัทฯ จะเริ่มถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน ส่วนเงินทุนงวดที่ 2 จำนวน 1,020 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 420 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ จะพิจารณาความเหมาะสมช่วงเวลาที่จะขอรับจากคลังต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังแยกบริหารแอร์พอร์ตลิงก์จาก ร.ฟ.ท.นั้น บริษัทฯ จะมีความคล่องตัวและมีแนวทางในการหารายได้เพิ่มได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนที่เหลือจากที่ให้สัมปทานไปแล้ว รวมถึงการพัฒนาที่จอดรถในแต่ละสถานี โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหาร

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น บริษัทฯ ได้ทำสัญญาสัมปทานกับบริษัท โคอะ-ฉะ มีเดีย ประเทศไทย โดยแบ่งเป็นพื้นที่โฆษณารวม 6,837 ตร.ม. ประกอบด้วยโฆษณาบริเวณพื้นที่สถานีทั้ง 8 สถานี และบริเวณภายในและภายนอกขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวน มีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวม 5,788.20 ตร.ม. ประกอบด้วย ร้านค้า สำนักงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณร้านค้าประมาณ 74.89% ของพื้นที่แล้ว โดยสถานีพญาไทมีร้านค้าเต็ม 100% ส่วนที่ยังไม่มีร้านค้าเลยคือ สถานีราชปรารภ และบ้านทับช้าง ซึ่งจะต้องเร่งทำการตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมทางการตลาด (อีเวนต์) เช่น อะเดย์ไบค์เฟส, แคททีเชิ้ต คิตตี้รัน หรืออาร์ตบ็อกซ์ เป็นต้น ซึ่งกระตุ้นให้สถานีมักกะสันมีผู้โดยสารเพิ่ม จากเดิม 2,000 คนต่อวัน เป็น 8,000 คนต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น