xs
xsm
sm
md
lg

แบ่ง 3 เฟสย้ายมักกะสัน ทุ่ม 1.8 หมื่นล้านผุดศูนย์ซ่อมใหญ่ “เขาชีจรรย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เร่งจ้างที่ปรึกษาทำแผนละเอียดย้ายโรงงานมักกะสัน คาดใช้งบ 1.8 หมื่นล้านเพื่อเร่งส่งมอบพื้นที่ให้ธนารักษ์ใน 2 ปี แบ่ง 3 เฟส ปรับปรุงและขยายศูนย์ซ่อมภูมิภาครับงานซ่อมรถโดยสารและรถดีเซลชั่วคราว ส่วนแก่งคอยสร้างเดปโป้เพิ่มรับซ่อมใหญ่หัวจักร เฟส 3 ผุดนิคมฯ ซ่อมที่ชุมทางเขาชีจรรย์ 500 ไร่ พร้อม ร.ร.วิศวกรรมรถไฟ

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า แผนการส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันจำนวน 497.11 ไร่ ให้กระทรวงการคลังที่จะได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินในระยะยาวจำนวน 99 ปี เพื่อชำระหนี้คงค้างมูลค่าประมาณ 61,846 ล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับให้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 2 ปี จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.ทำแผนย้ายออกใน 5 ปี โดยการย้ายออกจากพื้นที่มักกะสันจะมีค่าใช้จ่ายในการย้ายประมาณ 18,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามแผนในการย้ายโรงงานมักกะสันเดิมจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี โดยโรงงานมักกะสันคือจุดที่จะส่งมอบได้ช้าที่สุด ดังนั้น ฝ่ายการช่างกลจึงจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาแผนการย้ายให้ได้ใน 2 ปี โดยไม่กระทบต่อกิจการซ่อมบำรุง และการเดินรถ เบื้องต้น จะกระจายงานที่มักกะสันออกไปยังโรงซ่อมต่างๆ เช่น แก่งคอย โคราช ทุ่งสง อุตรดิตถ์

นายณรงค์ฤทธิ์ ศิวะสาโรช รองผู้ว่าฯ กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ในการย้ายโรงงานและโรงซ่อมบำรุงมักกะสัน วงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 10 เดือน โดยได้แบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ปรับปรุงและขยายศูนย์ซ่อมภูมิภาค 3 แห่งที่มี คือ โคราช, อุตรดิตถ์ และทุ่งสง เป้าหมายเพื่อรองรับการซ่อมหนักรถโดยสาร และที่ศูนย์ซ่อมโคราชจะมีการสร้างโรงซ่อมสำหรับรถดีเซลรางเพิ่มด้วย ทำให้กระจายงานซ่อมหนักรถโดยสารและรถดีเซลรางออกจากมักกะสันได้ คาดว่าจะใช้งบดำเนินการประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน

2. ก่อสร้างโรงซ่อมรถจักรที่แก่งคอย ซึ่งมีการออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ซึ่งเป็นเดปโป้รถจักรเหมือนบางซื่อ สามารถทำการซ่อมย่อย และซ่อมใหญ่ระดับกลาง (Medium Overhaul) พร้อมกันนี้จะสร้างศูนย์ซ่อมหนักรถจักรดีเซลเพิ่มอีก 1 โรงในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อรับงานซ่อมหนักแทนมักกะสัน งบประมาณ 1,000 ล้านบาท

3. สร้างนิคมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถไฟที่ชุมทางเขาชีจรรย์ พื้นที่ 500 ไร่ พร้อมกับย้ายโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟไปรวมอยู่ด้วยเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ยกระดับโรงเรียนเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบรางอาเซียน ซึ่งระยะ 3 นี้จะใช้เวลานานเนื่องจากจะเป็นศูนย์รวมการซ่อมทั้งหมด ส่วนระยะ 1, 2 เป็นการย้ายงานซ่อมรถโดยสาร รถดีเซล และหัวจักรไปไว้ชั่วคราวในช่วงที่ต้องเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ภายใน 2 ปี และให้กระทบต่อการซ่อมบำรุงและการเดินรถน้อยที่สุด

สำหรับพื้นที่มักกะสันแบ่งเป็น 4 โซน โดยโซน A จำนวน139.82 ไร่อยู่หน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่สับเปลี่ยนเพื่อนำรถจักรและล้อเลื่อนเข้าซ่อมภายในโรงซ่อม จะสามารถส่งมอบได้ก่อน โซน B จำนวน 117.7 ไร่ พื้นที่ซ่อมบำรุงหลักฝ่ายช่างกล โรงซ่อมหนัก โซน C จำนวน 151.4 ไร่ ที่ตั้งโรงพยาบาลจบุรฉัตรไชยากรและบ้านพักพนักงาน โซน D จำนวน 88.58 ไร่ ที่ตั้งคลังพัสดุอะไหล่
กำลังโหลดความคิดเห็น