xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” รับฟังความเห็นภาคประชาสังคม ยันพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ก่อนเสนอรัฐบาลพิจารณาเข้าร่วม TPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ยืนยันรัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วม TPP แต่อยู่ระหว่างการศึกษา และพร้อมนำข้อเสนอแนะ มาตรการเยียวรับเสนอรัฐบาลพิจารณา เผยแม้ไทยจะเข้าไม่เข้า TPP ก็จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้าน “เอฟทีเอ วอตช์” จี้รัฐเปิดเผยผลศึกษา จัดเวทีดีเบต พร้อมแนะหยุดแก้กฎหมาย ระเบียบ ตามคำเรียกร้องของชาติมหาอำนาจก่อน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้แทนกลุ่มภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมาตรการเยียวยาต่อการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยภาคประชาสังคมได้มีความเป็นห่วงในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเรื่องสิทธิบัตรยา การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องรัฐ ซึ่งกระทรวงฯ ยินดีและพร้อมรับข้อเสนอแนะของทุกกลุ่มไปประกอบการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ทั้งนี้ ได้ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลดี ผลเสีย และประเมินความพร้อมของไทยอย่างรอบคอบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทยต่อความตกลง TPP โดยเฉพาะภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ กระทรวงฯ จะรับฟังประเด็นปัญหาและหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

“กระทรวงฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบ เสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป” นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวว่า TPP เป็นความตกลงระดับภูมิภาคที่มีมาตรฐานสูงและขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP ของประเทศสมาชิกรวมกัน 27.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 39.3 ของมูลค่า GDP โลก และมีมูลการค้ารวม TPP ต่อโลกประมาณ 8.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26.17 ของมูลค่าการค้าโลก จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านการส่งออกและการลงทุน แต่ถึงแม้ไทยจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ ไทยก็จำเป็นต้องพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อแข่งขันกับอีกหลายประเทศที่แสดงความต้องการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ TPP ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮอนดูรัส และโคลัมเบีย

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการเข้าร่วมข้อตกลง TPP โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เปิดเผยข้อมูลงานศึกษา ตัวเลข ผลได้ ผลกระทบ และต้องจัดให้มีเวทีวิชาการดีเบตข้อมูลเหล่านั้น ทั้งผลบวกกับประเทศไทยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาว่ายังขาดข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้า TPP

“จะต้องชี้แจงให้ได้ว่า ถ้าไทยเข้า TPP จะต้องยอมรับการผูกขาดตลาดยาเพิ่มขึ้นอีก 1-10 ปีอย่างไร และจะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยอย่างไร เพราะกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะต้องเตรียมงบประมาณตั้งแต่ 2,835-288,266 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลมีการรองรับอย่างไร เยียวยาได้หรือไม่ เพราะเมื่อเทียบกับงานศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้างศึกษาว่า การเข้า TPP จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.77% เท่านั้น”

นอกจากนี้จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบจากการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) เพราะมีแนวโน้มเป็นปัญหาใหญ่ เช่น การไม่ต่อใบอนุญาตทำเหมืองทอง และหากไทยเข้า TPP ก็จะมีการบังคับให้เป็นภาคี ICSID ที่จะทำให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่รัฐไทยไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาในระบบยุติธรรมของไทยได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม TPP ขอให้หยุดกระบวนการแก้กฎหมาย ประกาศและระเบียบต่างๆ ตามคำเรียกร้องของชาติ มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการเจรจา อาทิ พ.ร.บ.สิทธิบัตร, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ,ประกาศควบคุมการนำเข้าเนื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรควัวบ้า, การเปิดตลาดเนื้อสุกรที่พบสารเร่งเนื้อแดง, การยกเลิกมาตราฉลากภาพควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยกเลิกการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่บ่อนทำลายภาคเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขไทย

“ผู้กำหนดนโยบายไม่พึงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลผูกพันกับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานแต่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมดุล ซึ่งภาคประชาสังคมเห็นว่าหากดำเนินการตามที่ได้มีการเสนอไปทั้งหมดแล้ว จึงนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือคณะรัฐมนตรีว่าประเทศไทยควรไปขอเข้าร่วมเจรจา TPP หรือไม่” น.ส.กรรณิการ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น