“พาณิชย์” เตรียมเรียกกลุ่มภาคประชาสังคมชี้แจงข้อตกลงทีพีพี ก่อนเสนอผลสรุปการศึกษาผลดีผลเสียให้ กนศ.เคาะต้น มิ.ย.นี้ ย้ำถึงไม่เข้าทีพีพี ไทยก็ต้องปฏิรูประบบการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอยู่แล้ว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ครั้งที่ 2 ว่า เร็วๆ นี้จะเชิญกลุ่มภาคประชาสังคมที่ยังมีความกังวลต่อการเข้าร่วมทีพีพีมาหารือ เพื่อรับฟังปัญหาของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดต่อกลุ่มต่างๆ ว่า หากไทยเข้าร่วมทีพีพีจะมีการปฏิรูปหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับข้อกังวลต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร เบื้องต้นจะหารือกับกลุ่มภาคปศุสัตว์ก่อน เพราะได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับภาคเอกชนชี้แจงทำความเข้าต่อภาคประชาสังคมไปหลายรอบ ไม่ว่าจะภาคเกษตรกร กลุ่มยา และภาคปศุสัตว์ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ยอมรับว่าเรื่องทีพีพีต้องสร้างความเข้าใจต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเร่งทำความเข้าใจ ก่อนนำผลสรุปการศึกษาผลดีผลเสียเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาต้นเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนการเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของ กนศ.
“คนที่บอกว่าไม่ต้องเข้าทีพีพี ถามว่าตอนนี้ประเทศไทยเก่งแล้วใช่หรือไม่ ถ้าอยู่เฉยๆ จะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่เข้าร่วม ประเทศไทยก็ต้องปฎิรูปด้านการค้าในหลายด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่เงื่อนไขของการเข้าทีพีพี แต่เป็นเรื่องที่เราต้องปรับปรุงตัวเอง” นางอภิรดีกล่าว
สำหรับผลประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงทีพีพีนั้น ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่ามีมาตรการที่จะดูแลข้อกังวลของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าจะถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ โดยประเด็นดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ จะมีการเตรียมความพร้อมด้วยการจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ในทุกภูมิภาค เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ราคาถูกและมีคุณภาพมาจำหน่าย รวมทั้งจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.พันธุ์พืช ให้มีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ป้องกันปัญหาต่างชาติมาแอบใช้พันธุ์พืชของไทย
ในด้านการขึ้นทะเบียนยา กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการศึกษาข้อกังวลของกลุ่มภาคประชาสังคมด้านยา โดยจะมีการขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาให้รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันการชดเชยกรณีที่มีการขึ้นทะเบียนยาล่าช้า รวมทั้งมีการเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงงานจดสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีการลดขั้นตอนจดสิทธิบัตรยาให้เร็วขึ้นเช่นกัน