“พาณิชย์” เผย สนช.ไฟเขียวไทยลดภาษีสินค้าไอที 524 รายการภายใต้ความตกลง ITA Expansion แล้ว คาดช่วยดันเศรษฐกิจไทยโตอีก 0.66% ประหยัดภาษีนำเข้า 4,700 ล้านบาท และยังช่วยเพิ่มยอดส่งออกไปสหรัฐฯ และอียูได้เพิ่มขึ้น รวมถึงดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมไอทีในไทยเพิ่ม
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบให้ไทยลดภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) ซึ่งเป็นความตกลงฉบับใหม่ที่มีการขยายขอบเขตการลดภาษี และเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากขึ้น โดยไทยจะมีการลดภาษีสินค้าไอทีจำนวน 524 รายการ เป็น 0% แต่จะมีระยะเวลาในการลดภาษีแตกต่างกัน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2559
ทั้งนี้ การเข้าร่วมลดภาษีภายใต้ความตกลง ITA Expansion จะเป็นประโยชน์กับไทยซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.66% และประหยัดภาษีนำเข้าให้แก่ไทยประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไม่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย โดยเฉพาะมอนิเตอร์ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ยังเก็บภาษี 5% และกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิตอล และกล้องถ่ายบันทึกวิดีโอที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปัจจุบันอียูเก็บภาษี 14%
“การลดภาษีสินค้าไอทีของสมาชิก WTOทั้ง 52 ประเทศยังทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น เพราะสามารถนำเข้าวัตถุดิบภายใต้ความตกลง ITA Expansionทำให้สินค้าสำเร็จรูปมีต้นทุนถูกลง และยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายผลักดัน Super Cluster เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม และดิจิตอล รวมทั้งทำให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสาขาไอทีสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มี 70,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 65,000 คน” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการค้าสินค้า ITA Expansion ทั่วโลก มีสูงกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการค้ารถยนต์ของโลก หรือมูลค่าการค้าสิ่งทอ เสื้อผ้า และเหล็กรวมกัน โดยสมาชิก WTO ที่ร่วมประกาศความสำเร็จในการเจรจา ITA Expansion มีมูลค่าการค้าสินค้ารวมกันประมาณ 90% ของการค้าโลก โดยไทยมีมูลค่าการค้าสินค้า ITAในตลาดโลกเฉลี่ย 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 ล้านล้านบาทต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 10 ของโลก โดยมีจีน สหรัฐฯ และอียู เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับ
ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคี ITA Expansion ได้แก่ สิงค์โปร์ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นอันดับที่ 5 มาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาด เป็นอันดับที่ 8 และฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 15 เป็นต้น
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับการลดภาษีสินค้าทั้ง 524 รายการนั้น ได้แบ่งระดับการลดภาษีออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1. ลดภาษีเป็น 0 ทันที จำนวน 342 รายการ (ร้อยละ 65.27) เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องพิมพ์ แผงระบายความร้อนรวมทั้งชุดระบายความร้อนชนิดท่อแบน ชนิดที่ใช้สำหรับหม้อแปลงจ่ายไฟฟ้า กล่องที่เติมหมึกแล้วสำหรับเครื่องพิมพ์ ส่วนประกอบรวมถึงแผงวรจรไฟฟ้า สำหรับเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งสินค้าทั้งหมดนี้ ไทยมีอัตราภาษีเก็บจริงอยู่ที่ร้อยละ 0 อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นสินค้าต้นทางสำหรับการผลิตภายในประเทศ
2. ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 3 ปี จำนวน 94 รายการ (ร้อยละ 17.94) เช่น สตาร์ตเตอร์สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า หรือฟิวส์สวิตช์ชนิดที่เหมาะสำหรับใช้ในพัดลมไฟฟ้า จอฉายภาพ สวิตช์ขนาดเล็กสำหรับหม้อหุงข้าวหรือเตาอบปิ้ง ฟิลเตอร์สำหรับเครื่องฉายภาพยนตร์ เป็นต้น มีอัตราภาษีเก็บจริงโดยเฉลี่ยในขณะนี้ ที่ร้อยละ 9.7
3. ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 5 ปี จำนวน 82 รายการ (ร้อยละ 15.65) เช่น ตัวเหนี่ยวนำค่าคงที่แบบชิป ชุดประกอบแผงวงจรพิมพ์สำหรับเครื่องบันทึกเสียง ชุดประกอบแผงวงจรพิมพ์สำหรับเครื่องตอบรับโทรศัพท์ ลำโพงเดี่ยวติดตั้งในตู้ลำโพง เป็นต้น มีอัตราภาษีเก็บจริงโดยเฉลี่ยในขณะนี้ที่ร้อยละ 10.7
4. ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 7 ปี จำนวน 6 รายการ (ร้อยละ 1.15) เช่น เครื่องผกผัน (อินเวอร์เตอร์) เครื่องชาร์จแบตเตอรี่มีพิกัดเกิน 100 เควีเอ เครื่องกลับกระแสไฟฟ้า เป็นต้น มีอัตราภาษีเก็บจริงโดยเฉลี่ยในขณะนี้ที่ร้อยละ 10
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบตารางข้อผูกพันของไทยกับประเทศอื่นจะเห็นว่าไทยมีความยืดหยุ่นสูง โดยมีสัดส่วนสินค้าที่ต้องลดภาษีทันทีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียมีรายการสินค้าที่จะยกเว้นอากรศุลกากรทั้งหมด 410 รายการ ซึ่งลดอากรศุลกากรเป็นร้อยละ 0 ทันที จำนวน 360 รายการ หรือร้อยละ 87.80 ฟิลิปปินส์มีรายการสินค้าที่จะยกเว้นอากรศุลกากรทั้งหมด 743 รายการ ซึ่งลดอากรศุลกากรเป็นร้อยละ 0 ทันที จำนวน 526 รายการ หรือร้อยละ 70.79 รวมถึงประเทศที่เป็นเป้าหมายในการส่งออกของไทย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีรายการสินค้าที่จะยกเว้นอากรศุลกากรทั้งหมด 450 รายการ และ 581 รายการ ซึ่งลดอากรศุลกากรเป็นร้อยละ 0 ทันที จำนวน 358 รายการ หรือร้อยละ 79.56 และ 450 รายการ หรือร้อยละ 77.45 ตามลำดับ