xs
xsm
sm
md
lg

12 ชาติแปซิฟิกลงนาม TPP สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกสมใจ “อเมริกา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ แห่งนิวซีแลนด์ (ที่ 6 จากขวา) ถ่ายภาพร่วมกับรัฐมนตรีผู้แทนจาก 11 ประเทศในพิธีลงนามความตกลงหถ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอ็อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ วันนี้ (4 ก.พ.)
เอเอฟพี - ผู้แทนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอีก 11 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกจดปากกาลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) สร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นอย่างเป็นทางการวันนี้ (4 ก.พ.) ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวในหลายประเทศที่เกรงว่า ข้อตกลงฉบับนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และอธิปไตยของชาติ

ข้อตกลงซึ่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยกย่องว่าจะเป็น “รากฐานของการค้าของศตวรรษที่ 21” มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่ม 12 ประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 40% ของโลก

นายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ แห่งนิวซีแลนด์ และ ไมค์ โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้แถลงชื่นชมเนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ในพิธีลงนามซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโอ๊กแลนด์ ขณะที่นักเคลื่อนไหวหลายพันคนต่างชูป้ายคัดค้านและชุมนุมปิดถนนด้านนอก

“วันนี้ถือเป็นวันพิเศษ ไม่ใช่สำหรับนิวซีแลนด์เท่านั้น แต่รวมถึงอีก 11 ประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” คีย์กล่าว

ด้านประธานาธิบดีโอบามาก็ได้มีถ้อยแถลงส่งตรงมาจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยระบุว่า ทีพีพีจะเป็นกลไกที่ช่วยให้สหรัฐฯ ได้เปรียบคู่แข่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีน

“ทีพีพีจะเปิดโอกาสให้อเมริกาเป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์ในศตวรรษที่ 21... ไม่ใช่ประเทศอย่างจีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับภูมิภาคซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลวัตอย่างเอเชีย-แปซิฟิก”

โอบามายังระบุว่า ทีพีพีเป็น “ข้อตกลงการค้าชนิดใหม่ ที่ให้ความสำคัญต่อแรงงานอเมริกันเป็นที่หนึ่ง”

“พูดง่ายๆ ก็คือ ทีพีพีจะส่งเสริมความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีการค้านานาชาติ และจะสนับสนุนการจ้างงานที่ดีในประเทศของเราเอง”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่คัดค้านข้อตกลงฉบับนี้กลับมองว่า ทีพีพีจะทำให้ตำแหน่งงานลดลง และยังลิดรอนอำนาจอธิปไตยของรัฐสมาชิกในเอเชีย-แปซิฟิก

เนื้อหาหลักๆ ของ TPP กำหนดให้มีการยกเลิกกำแพงภาษีถึง 98% จากสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เนื้อวัว นม ไวน์ น้ำตาล ข้าว พืชสวน อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

แม้พิธีลงนามจะถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการเจรจา ทว่ารัฐสมาชิกยังมีเวลาอีก 2 ปีที่จะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะต้องให้สัตยาบันต่อข้อตกลงทั้งฉบับตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก่อนที่ทีพีพีจะมีผลบังคับทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์

“ทีพีพีจะเปิดโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการสำหรับประชากรกว่า 800 ล้านคนในรัฐภาคีทั้ง 12 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเศรษฐกิจราว 36% ของโลก... เราขอสนับสนุนให้แต่ละประเทศดำเนินตามขั้นตอนของการให้สัตยาบันโดยเร็วที่สุด” คีย์กล่าว

12 ประเทศ ที่ร่วมลงนามในทีพีพี ได้แก่ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เวียดนาม, เม็กซิโก, เปรู, สิงคโปร์, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

“ยังมีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจเข้าร่วมทีพีพีในอนาคต... ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค” นายกฯ นิวซีแลนด์ระบุ

คำแถลงร่วมของ 12 รัฐภาคีระบุว่า “ทีพีพีจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการค้าและการลงทุนในภูมิภาคซึ่งมีการเติบโตและพลวัตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก... เป้าหมายของเราคือการแบ่งปันความรุ่งเรือง สร้างงาน และส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ทุกๆ ประเทศ”

ก่อนหน้านี้โฟรแมนได้เตือนให้ทุกประเทศระวังผลเสียจากความล่าช้าในการให้สัตยาบัน

“หลังจากใช้เวลาเจรจากันมานานถึง 5 ปีแล้ว การลงนามทีพีพีถือเป็นขั้นตอนสำคัญในความพยายามของเราที่จะกำหนดมาตรฐานการค้าที่สูงขึ้นสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก และเพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์แก่แรงงาน เกษตรกร และภาคธุรกิจของสหรัฐฯ”

โฟรแมนระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่สหรัฐฯ ได้ถึงปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ “และความล่าช้าย่อมต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

กลุ่มที่ต่อต้านทีพีพีแสดงความเป็นห่วงเรื่องกระบวนการเจรจาที่ถูกปิดเป็นความลับ และแนวโน้มที่รัฐภาคีจะถูกลิดรอนอธิปไตย พร้อมเตือนว่าเงื่อนไขของทีพีพีมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เองเป็นหลัก

เจน เคลซี อาจารย์กฎหมายซึ่งเป็นหัวหอกคัดค้านไม่ให้รัฐบาลกีวีตัดสินใจเข้าร่วมทีพีพี ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เฮรัลด์ ว่า ข้อตกลงฉบับนี้ “ให้สิทธิ์รัฐบาลและบริษัทต่างชาติแทรกแซงการออกข้อบังคับต่างๆ” ในขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ได้รับสิทธิ์นี้

“บริษัทอเมริกันกว่า 1,600 แห่งซึ่งเป็นพวกที่ช่างฟ้องที่สุดในโลก จะมีสิทธิ์ยื่นฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีที่ข้อบังคับบางอย่างทำให้พวกเขาสูญเสียประโยชน์”




กำลังโหลดความคิดเห็น