xs
xsm
sm
md
lg

นักเคลื่อนไหวค้าน 12 ชาติให้สัตยาบัน TPP ชี้ยังละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม-โอกาสเข้าถึงยารักษาโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เนื้อหาของข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans- Pacific Partnership - TPP) ซึ่งปิดเป็นความลับมานาน ถูกนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) โดยมีเสียงตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจ ในขณะที่องค์กรด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขในหลายประเทศภาคี ยืนยันที่จะขัดขวางการให้สัตยาบันต่อข้อตกลงฉบับนี้

ชุดเอกสารซึ่งรัฐบาลหลายชาติได้นำออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ซึ่งมุ่งขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่ม 12 ประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันถึง 40% ของโลก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ พยายามผลักดันทีพีพีให้เป็น “รากฐานการค้าในศตวรรษที่ 21” โดยระบุว่า ข้อตกลงฉบับนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา ตลอดจนปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ของแรงงานแล้ว ยังจะทำให้สหรัฐฯ ดำรงสถานะ “ผู้คุมกฎ” ต่อไป แทนที่จะเป็นจีนซึ่งถูกกีดกันออกจากข้อตกลงนี้

ข้อตกลงฉบับนี้กำลังรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภาทั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เวียดนาม, เม็กซิโก, เปรู, สิงคโปร์, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ภาคธุรกิจซึ่งเข้าไปมีส่วนต่อรองในกระบวนการเจรจาซึ่งใช้เวลานานหลายปี ต่างแสดงท่าทีพอใจต่อเนื้อหาของทีพีพี โดยองค์กร Business Roundtable ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับท็อปของอเมริกา ชี้ว่า ข้อตกลงทีพีพี “เป็นโอกาสที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขณะเดียวกันก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมในประเทศภาคี”

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่กลับยังรู้สึกไม่พอใจเนื้อหาของทีพีพี ซึ่งพวกเขาชี้ว่าเอกสารฉบับสมบูรณ์ไม่ระบุมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม และไม่กำหนดเงื่อนไขที่จะรับรองว่า การจดสิทธิบัตรยาจะไม่ปิดกั้นโอกาสของคนยากจนในการเข้าถึงยารักษาโรค

จูดิต เรียส ซานฮวน จากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ชี้ว่า เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา “ยังคงทำให้ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่ราคาปานกลางได้”

ไมเคิล บรูน ผู้อำนวยการเซียร์ราคลับ (Sierra Club) ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์คือหลักฐานชี้ชัดว่า “ทีพีพี กำลังก่อความเสี่ยงให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของพวกเรา”

“คำว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) ไม่มีปรากฏอยู่ในเนื้อหาของทีพีพีเลย เห็นได้ชัดว่ามันไม่คู่ควรจะเป็นข้อตกลงการค้าในศตวรรษที่ 21”

การเผยแพร่เนื้อหาทีพีพีฉบับสมบูรณ์ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลแต่ละชาติจะขอความเห็นชอบจากสาธารณชนและรัฐสภา ซึ่งจะต้องให้สัตยาบันต่อข้อตกลงทั้งฉบับตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้

เนื้อหาหลักๆ ของ TPP กำหนดให้มีการยกเลิกกำแพงภาษีถึง 98% จากสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เนื้อวัว นม ไวน์ น้ำตาล ข้าว พืชสวน อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

ข้อตกลงฉบับนี้ยังบีบให้ประเทศภาคีต้องเปิดตลาดรับสินค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะญี่ปุ่นที่จะส่งไปขายในสหรัฐฯ, ยาของออสเตรเลียที่ส่งไปยังเปรู, ข้าวสหรัฐฯ ที่ส่งไปญี่ปุ่น และชีสจากนิวซีแลนด์ที่ส่งไปจำหน่ายในแคนาดา เป็นต้น ขณะที่แดนปลาดิบเองก็ต้องยอมยกเลิกมาตรการปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ

ทีพีพียังกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเสนอกฎหมายปกป้องข้อมูลและการค้าออนไลน์ และยังกำหนดมาตรฐานสิทธิบัตรยาประเภทใหม่ๆ โดยเฉพาะยาประสิทธิภาพสูงในกลุ่ม biologic

กำลังโหลดความคิดเห็น