xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ผักผลไม้มีตรา Q - ตราออแกนิก เจอสารพิษตกค้างอื้อ จี้ยกเครื่องการให้ตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยแพน เผย ผลตรวจ “ผักผลไม้” เจอสารพิษตกค้างอื้อ อึ้ง! ผักผลไม้รับตรา Q และออแกนิก ไทยแลนด์ พบสารตกค้างสูงทั้งที่ไม่ควรมี จี้ มกอช. อย. กรมวิชาการเกษตรยกเครื่องการให้ตรา ระบุ กะหล่ำปลี - มะเขือเปราะ - แตงโม ไม่พบสารตกค้าง

วันนี้ (4 พ.ค.) น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN :Thailand Pesticide Alert Network) แถลงผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ 2559 ว่า จากสุ่มตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรด 7 แห่ง ในเขต กทม. ปริมณฑล เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16 - 18 มีนาคม 2559 โดยส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด พบว่า ผัก 10 ชนิด มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ดังนี้ พริกแดง 100% กะเพรา 66.7% ถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศ 11.1 % แตงกวา 11.1% มะเขือเปราะ และ กะหล่ำปลี 0% ส่วนผลไม้ 6 ชนิด มีสารพิษตกค้าง คือ ส้มสายน้ำผึ้ง และฝรั่ง 100% แก้วมังกร 71.4 % มะละกอ 66.7% มะม่วงน้ำดอกไม้ 44.4% และแตงโม 0%

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ภาพรวมมีผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 46.4% ที่สำคัญ พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตรา Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีมากที่สุด โดยพบสูงถึง 57.1% ส่วนผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองออร์แกนิก ไทยแลนด์(Organic Thailand) ที่ไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนตัวอย่าง นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบยังสะท้อนว่า ผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์น เทรด หรือห้างค้าปลีกที่ราคาแพงกว่าตลาดกลับไม่ได้มีความปลอดภัยมากกว่า โดยมีจำนวนตัวอย่างตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46 % ขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วน 48% ถือว่าใกล้เคียงกันมาก และพบด้วยว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนรวม 11 ชนิด เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล หรือ สารดีท (deet) ที่เป็นส่วนประกอบของยากันยุงก็พบตกค้างในผักคะน้า ซึ่งสารพิษเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างอันตราย

ส่วนที่กะหล่ำปลีและแตงโมที่คนไทยรู้ว่ามีการใช้สารเคมีมากแต่กลับตรวจไม่พบการตกค้างนั้น ยังวิเคราะห์ได้ไม่แน่นอน แต่มี 3 สมมติฐานที่เป็นไปได้ คือ อาจใช้สารเคมีชนิดที่ห้องแล็บตรวจไม่ได้ หรือ มีการใช้สารเคมีแต่ตกค้างไม่ถึงผู้บริโภค เพราะสลายตัวไปก่อนและอาจเป็นผลจากการยับยั้งการใช้คาร์โบฟูรานที่มักใช้ในการหยอดหลุมก่อนปลูกแตงโม” น.ส.ปรกชล กล่าว

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ไทยแพนได้นำเสนอผลตรวจสอบนี้ต่อห้างค้าปลีก สมาคมตลาดสด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะมีการยกเครื่องการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิกไทยแลนด์ ด้านของผู้ประกอบการจะแจ้งอย่างเป็นทางการมายังไทยแพนภายใน 1 สัปดาห์ ว่า มีการดำเนินการอย่างไรในการลดปัญหาสารพิษตกค้าง อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) อย. และกรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ดกระทำผิดจำหน่ายอาหารไม่ปลอดภัย หลอกลวงผู้บริโภค หรือปลอมแปลงตรารับรอง

“บอกได้ยากว่าผักและผลไม้เหล่านี้เป็นการปลูกในไทย หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เชื่อว่าขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย เช่น แก้วมังกรช่วงนี้ของไทยยังไม่ออก ที่มีในตลาดนำเข้าจากเวียดนาม การจะให้แนะนำผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากจะแนะแบบหยาบ ๆ คือ ก็ควรซื้อที่ตลาดสดจะไปจ่ายเงินซื้อแพงทำไมในเมื่อสัดส่วนการตกค้างของสารพิษไม่แตกต่างกันมาก หรือล้างผัก ผลไม้ก่อนรับประทาน แต่บอกได้ยากว่าควรล้างอย่างไร เพราะสารบางชนิดไม่ดูดซึมสามารถล้างออกได้ง่าย เช่น ไซเปอร์เมทริน จะล้างออกได้มากถ้าใช้น้ำส้มสายชู แต่ไม่หมด 100% ส่วนบางชนิดเป็นสารที่ดูดซึม ล้างไม่ออกแม้แต่ใช้ความร้อนก็ไม่สลาย และที่มีความเชื่อว่าควรเลือกผักที่มีรูแปลว่าไม่มีการใช้สารเคมี ก็ไม่จริงเสมอไป ไม่ใช่หลักประกันว่าจะปลอดสารพิษ ซึ่งจากการคุยกับเกษตรกรทำให้ได้ข้อมูลว่า บางครั้งที่ผักเป็นรูอาจเป็นเพราะมีการใช้สารเคมีมากจนไม่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้แล้ว ที่ดีที่สุด คือ ต้องทำให้ต้นทางไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช” น.ส.กิ่งกร กล่าว


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น