ผู้ผลิตข้าวถุงกัดฟันตรึงราคาแม้ต้นทุนพุ่งแล้วกว่า 10% ชี้มีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ คาดแบกรับภาระได้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.เพื่อรอข้าวฤดูใหม่ออก เผยหากผลผลิตน้อย ราคาแพง อาจจำเป็นต้องขอปรับขึ้นราคา ย้ำข้าวถุงแข่งขันกันรุนแรงมากทำให้ปรับราคาได้ยาก เผยผู้ผลิตยังมีภาระจากการถูกห้างเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 10-35% เตรียมชงคณะทำงานข้าวครบวงจรช่วยแก้
นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ผู้ผลิตข้าวถุงมาบุญครอง กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตข้าวสารบรรจุถุง (5 กก.) ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาวปรับขึ้นมาแล้วเฉลี่ยถุงละ 5-7.50 บาท เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตข้าวถุงคือข้าวเปลือกเจ้าได้ปรับราคากว่า 10% ขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 9,000-9,500 บาท จากตันละ 7,500-8,500 บาท หรือต้นทุนข้าวสารขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท จากเดิมตันละ 1.20-1.25 หมื่นบาท แต่ผู้ผลิตข้าวถุงยังคงไม่ปรับขึ้นราคาเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้บริโภค
“ตอนนี้ข้าวขาวตกอยู่ที่ถุงละ 70-80 บาท ข้าวหอมมะลิถุงละ 160-170 บาท แต่ผู้ประกอบการจะยังไม่ขึ้นราคาเพราะยังมีข้าวสต๊อกเก่าเหลืออยู่ น่าจะใช้ได้อีก 2-3 เดือน แต่หลังจากเดือน ก.ย.ไปแล้วต้องติดตามว่าผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ที่ออกมาจะมีมากน้อยแค่ไหน หากผลผลิตน้อยและราคาปรับขึ้นสูง ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาบ้าง” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันในตลาดข้าวถุงแต่ละแบรนด์รุนแรงมากขึ้นเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยมีการจัดโปรโมชันซื้อข้าวถุงแถมสินค้าชนิดอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม น้ำปลา ซีอิ๊ว แล้วแต่ผู้ประกอบการจะจับคู่กับสินค้าชนิดไหน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าข้าวถุงปรับขึ้นราคาได้ยากเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบการข้าวถุงยังมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการนำสินค้าไปขายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ห้างสรรพสินค้า ซึ่งในปีหน้าจะมีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมภายในห้างขึ้นอีก
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการเก็บค่าธรรมเนียมทั้งหมดของห้างคิดอยู่ที่ประมาณ 10-35% ซึ่งเป็นปัญหาต่อผู้ประกอบการ เพราะการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่มีมาตรฐานชัดเจนว่าคำนวณจากส่วนใด ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะเสนอในที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรที่มี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยจะเสนอให้บรรจุข้าวถุงเป็นสินค้าชนิดพิเศษอยู่ในแผนระยะยาวที่จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ค้าปลีกข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า การประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล 1.19 ล้านตัน ที่มีผู้เสนอซื้อสูงถึง 1.17 ล้านตัน ถือว่าได้รับการตอบรับจากตลาดมาก เพราะสามารถขายข้าวได้เกือบทั้งหมดที่นำออกมาประมูล โดยข้าวส่วนใหญ่ที่เอกชนเข้าไปเสนอซื้อคือปลายข้าว เนื่องจากผู้ส่งออกจะนำปลายข้าวไปส่งออกให้ตลาดแอฟริกา ที่ขณะนี้เริ่มกลับมาซื้อข้าวของไทย เพราะกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
“สต๊อกข้าวรัฐที่ปล่อยออกมากว่าล้านตันไม่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดภายในประเทศ เพราะส่วนใหญ่นำไปส่งออกให้กับตลาดแอฟริกา โดยมองว่าหลังจากระบายข้าวล็อตนี้ออกไปภาครัฐควรชะลอการระบายข้าวไว้ก่อน เพราะหากปล่อยข้าวเข้าสู่ตลาดอีกล้านตันในระยะ 1 เดือนอาจมีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดได้เช่นกัน” นายสมเกียรติกล่าว