“พาณิชย์” เร่งสร้าง “ไรซ์เบอร์รี วัลเลย์” ดันเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีป้อนความต้องการที่เพิ่มขึ้น หวั่นปลูกไร้ทิศทาง ทำชื่อเสียงเสียหาย ราคาตก เตรียมเร่งให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล หวังสร้างความเชื่อมั่นเพิ่ม พร้อมเดินหน้าทำยุทธศาสตร์สินค้าอินทรีย์ใหม่ 5 ปี
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี หรือการสร้างไรซ์เบอร์รี่ วัลเลย์ เพื่อช่วยกันเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีคุณภาพตามที่กำหนด ป้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดสามารถผลักดันให้มีการรวมกลุ่มได้แล้ว 17 กลุ่ม ใน 13 จังหวัด มีปริมาณผลผลิตเกือบ 5 พันไร่ ซึ่งตั้งเป้าผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้นและมีจำนวนไร่ที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันสามารถทำผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รีออกสู่ตลาดได้ประมาณ 1 พันตันข้าวเปลือก และยังได้รวมตัวกันเป็นสมาคมเกษตรอินทรีย์คำนึง ขายสินค้าภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ตราสินค้าเดียวกัน ซึ่งมีตลาดรองรับผลผลิตหมดแล้ว และยังมีการจองผลผลิตของปีหน้าไว้ล่วงหน้าแล้วด้วย โดยได้มีการลงนามซื้อขายระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกรไปแล้ว”
ทั้งนี้ ปัญหาของการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รีในขณะนี้ เกษตรกรมักต่างคนต่างปลูก ไม่ได้เพาะปลูกตามมาตรฐานอินทรีย์ที่กำหนด ทำให้ข้าวไม่ได้มาตรฐาน ราคาตก และทำตลาดได้ยาก กระทรวงฯ ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ผลักดันให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพาะปลูกเพื่อที่จะได้ทราบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตรงไหน จะได้บริหารจัดการได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงฯ กำลังผลักดันให้ข้าวไรซ์เบอร์รีได้มาตรฐานสินค้าอินทรีย์ โดยอยู่ระหว่างการตรวจรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่จะให้การรับรองมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์สากล (IFOAM) หากได้เครื่องหมายรับรองแล้วจะทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รีทำตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น และยังได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำมาตรฐานข้าวสีชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ แต่จะเริ่มที่ข้าวไรซ์เบอร์รีเป็นอันดับแรก เพราะเริ่มเป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้น
น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์อื่นๆ กระทรวงฯ ได้ผลักดันให้เกิดหมู่บ้านอินทรีย์ หรือออร์แกนิก วิลเลจ และส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญต่อมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอย่างแท้จริง และอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ฉบับใหม่ ระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประสาน 9 ประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกับจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ระดับนานาชาติในประเทศไทย และเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดจัดงาน Organic & Natural Expo 2016 ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค. 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และในปีหน้ามีแผนที่จะยกระดับการจัดงานไปสู่ระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับผู้จัดงาน Biofach จัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี