xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” คุมเข้มพ่อค้าหัวหมอ นำเข้ามังคุดอินโดฯ สวมสิทธิ์ไทยส่งไปจีน ป้องกันชื่อเสียงเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มพ่อค้าหัวหมอลักลอบนำเข้ามังคุดอินโดนีเซียสวมสิทธิ์ไทยส่งออกไปจีน หวั่นทำลายชื่อเสียงเสียหาย พร้อมคุมเข้มล้งผลไม้ ป้องกันเกษตรกรโดนเอาเปรียบ ด้านจันทบุรีเสนอตัวเป็นฮับล้ง หวังให้ง่ายต่อการควบคุม

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ทหารและศุลกากร ได้เข้มงวดในการตรวจการนำเข้ามังคุดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์มังคุดไทยเพื่อส่งออกไปประเทศอื่น เนื่องจากที่ผ่านมามีพ่อค้าบางรายแอบนำมังคุดที่นำเข้าจากอินโดนีเซียเฉลี่ยราคา 40-50 บาท/กิโลกรัม (กก.) แล้วส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีนราคา 160-170 บาท/กก. หากไม่เข้มงวดตรวจสอบจะสร้างความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ผลไม้ไทยได้ เพราะคุณภาพและรสชาติมังคุดอินโดนีเซียจะต่ำกว่ามังคุดของไทยมาก

“ปกติมังคุดจากเพื่อนบ้านสามารถนำเข้าไทยได้ปกติ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบเกี่ยวโรคและอื่นๆ ก่อน แต่พาณิชย์จังหวัดจันทบุรีได้รายงานว่าตอนนี้มังคุดมีราคาแพงจากภัยแล้งจนผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน ทำให้พ่อค้าบางรายแอบนำมังคุดราคาถูกๆ จากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์แล้วส่งออกเพื่อฟันกำไรส่วนต่าง กระทรวงฯ จึงจำเป็นต้องปราบปรามและป้องกันอย่างเข้มงวด”

น.ส.ชุติมากล่าวว่า ปัจจุบันมีนายทุนจากจีนเข้ามาร่วมกับชาวไทยตั้งโรงรับซื้อและคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) มากขึ้น เพื่อรับซื้อผลไม้จากสวนของเกษตรกรเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยพบว่านายทุนหลายรายได้แต่งงานกับคนไทย เพื่อสามารถดำเนินกิจการได้สะดวกทั้งด้านกฎหมาย, เงินทุน, การบริหารจัดการ, การหาผลไม้และแรงงาน เนื่องจากในปัจจุบันการซื้อผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย มีการแข่งขันสูง เพราะปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในจีน

“การเข้ามาลงทุนของล้งจีนไม่ผิดกฎหมาย และที่สำคัญรัฐบาลก็มีมาตรการในการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว แต่ในอนาคตต้องมีมาตรการในการดูแลเกษตรกรและล้งที่เป็นคนไทยด้วย เพราะอาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบได้ แต่ก็ยอมรับว่าการเข้ามาของล้งจีนสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจากการให้ราคาที่สูงในการรับซื้อผลไม้”

นายนิอันนุวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ภาคเอกชนเสนอให้จังหวัดจันทบุรีเป็นฮับ หรือศูนย์กลางการค้าขายและทำธุรกิจล้งผลไม้ในประเทศไทย เพื่อให้การบริหารจัดการล้งเป็นระบบ ง่ายต่อการควบคุมดูแล และช่วยเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติ โดยในปัจจุบันล้งผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี มีประมาณ 150 ราย เพิ่มขึ้นจาก 80 รายในช่วงก่อนหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจชาวจีนสนใจมาร่วมลงทุนกับไทยมากขึ้น เพราะชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้จากไทย

“การดูแลปัญหาซื้อขายผลไม้ล่วงหน้าผ่านล้ง ภาครัฐได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าดูแล โดยในปีหน้า การจะซื้อผลไม้จะต้องประเมินราคาหลังจากมีการออกช่อ จากเดิมที่ประเมินก่อนผลไม้ออกช่อ เพื่อป้องกันการทิ้งใบสัญญาการสั่งซื้อซึ่งอาจกระทบต่อเกษตรกร และทำให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกได้” นายนิอันนุวากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น