“พาณิชย์” สั่งตรวจสอบราคาข้าวเหนียวแพงทุบสถิติ เป็นเพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นจริงหรือหลอก เผยราคาสูงกว่าข้าวหอมมะลิตันละกว่า 1 พันบาทแล้ว หวั่นเกษตรกรแห่ปลูกจนผลผลิตล้นตลาด ฉุดราคาดิ่ง
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ตรวจสอบสาเหตุที่ราคาข้าวเหนียวในปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติหรือไม่ หลังจากได้รับข้อมูลว่าขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเหนียวสูงถึงตันละ 13,000-15,000 บาท หรือกิโลกรัม (กก.) ละ 13-15 บาท สูงกว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่อยู่ที่ตันละ 11,000 บาท หรือ กก.ละ 11 บาท เพราะเกรงว่าในฤดูกาลผลิตใหม่เกษตรกรจะแห่ปลูกข้าวเหนียวมากขึ้นเพราะเห็นว่าราคาดี ในที่สุดจะก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำได้
“ราคาข้าวเปลือกเหนียวทำสถิติสูงสุด และสูงกว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิตันละกว่าพันบาทแล้ว กังวลว่า ในรอบหน้าเกษตรกรจะแห่ปลูกมากขึ้น จึงได้มอบให้กรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ตรวจหาสาเหตุว่าราคาที่สูงขึ้นเป็นเพราะความต้องการที่แท้จริงมีมาก หรือเป็นความต้องการเทียม เพราะปกติข้าวเหนียวปลูกเพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออกต่อปีไม่สูงมาก ประมาณแค่ 3 แสนตันเท่านั้น”
สำหรับการตรวจสอบสาเหตุของราคาข้าวเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นในครั้งนี้จะเน้นการตรวจสอบไปที่ภาคอุตสาหกรรมว่ามีความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือมีการลักลอบนำไปขายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับไทย
น.ส.ชุติมากล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก จะต้องจับตาการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ทั้งอินเดียและเวียดนาม หากสองประเทศนี้ส่งออกข้าวในปริมาณมาก ราคาข้าวในตลาดโลกจะไม่สูงขึ้นมาก แต่หากปริมาณการส่งออกลดลง เพราะผลผลิตเสียหายจากภัยแล้ง ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของข้าวไทยราคาได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าราคาจะทรงตัวในระดับสูงหลังจากที่ได้มีแผนการผลิตข้าวครบวงจรที่มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูก การจำกัดพื้นที่ปลูก การผลักดันให้เกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวสอดคล้องกับความต้องการ และราคาไม่ตกต่ำ
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามดำเนินการทำนาแปลงใหญ่ของเกษตรกรในภาคอีสาน ที่จ.ชัยภูมิไปแล้ว พบว่ายังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุง เช่น การแจกพันธุ์ข้าว ต้องเหมาะสมกับความต้องการ การเตรียมรับมือผลผลิตข้าวรอบใหม่ ที่เกษตรกรเริ่มปลูกในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าปกติราว 1 เดือนเศษ ต้นทุนการผลิตที่ยังไม่ลดลงมาก การขาดแคลนปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การทำนาแปลงใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยทำได้เพียง 8 แสนไร่ โดยจะนำปัญหาทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย.นี้