xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ฟังไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์คดีจำนำข้าว ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไป 22 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ยิ่งลักษณ์” ฟังไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ “พล.ต.ท.ยุทธนา-ประจักษ์” คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พบคุณภาพข้าว-การบรรจุลงถุงมีข้อบกพร่อง เหตุเป็นการขายช่วงต่อแบบยกกระสอบจึงทำหนังสือถึง รมว.พาณิชย์ให้ระงับการจำหน่ายข้าวถุง ก.จึงไปดำเนินการ สุดท้ายตั้งอนุ กมธ.ตรวจสอบ จากนั้น กขช.ส่ง ป.ป.ช.ตรวจสอบ ขณะที่รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินส่งหนังสือด่วน 4 ฉบับให้เพื่อให้มีการแก้ไขโดยเร็ว รวมถึงจัดทำรายงานการตรวจสอบโครงการจำนำข้าวที่ระบุหนี้สินโครงการระบายข้าวกว่า 5.4 แสนล้านบาท ส่งให้ ป.ป.ช. ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 22 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น.

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ 1 เม.ย. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 6 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบว่าหลังจากที่องค์คณะฯ มอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมเชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้ารายวัน ผู้จัดการออนไลน์ และสำนักข่าวสปริงนิวส์ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอข่าว ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือรายงานมาที่องค์คณะฯ ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้เชิญสื่อทุกคนมาทำความเข้าใจแล้ว

ต่อมาพนักงานอัยการได้นำ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาล ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เบิกความสรุปว่า หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็น ปธ.อนุกรรมาธิการฯ ได้เข้าตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการจำนำข้าว โดยกรณีดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินโครงการปรับปรุงข้าวและจำหน่ายข้าวถุงในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ซึ่งในการจ้างเอกชนดำเนินการปรับปรุงคุณภาพและจำหน่ายข้าวถุง อคส.จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เมื่ออนุกรรมาธิการฯ ตรวจสอบสัญญาที่ อคส.ทำไว้กับเอกชน พบว่ามีความบกพร่องและไม่ตรวจสอบศักยภาพของเอกชนที่จะปรับปรุงคุณภาพข้าวและนำข้าวบรรจุถุง และยังพบว่าข้าวส่วนใหญ่ไม่ถึงมือประชาชน เมื่อเรียกเจ้าของโรงสี และ อคส.มาชี้แจง ทราบว่าไม่มีการบรรจุข้าวถุงส่งร้านค้าเพื่อจำหน่าย แต่เป็นการขายช่วงต่อแบบยกกระสอบจนข้าวหมดสต๊อก ทางอนุกรรมาธิการฯ จึงได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แจ้งให้ระงับการดำเนินการทำข้าวถุง และให้ทางกระทรวงพาณิชย์รายงานถึงนายกรัฐมนตรีทราบ

ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้มีคำสั่งยกเลิกการจำหน่ายข้าวถุง และสั่งให้ อคส.เรียกข้าวคืนทั้งหมดภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2556 แต่เนื่องจาก อคส.ขายช่วงต่อให้เอกชนไปแล้วจึงไม่สามารถหาข้าวมาคืนได้ทันตามกำหนด ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งตามมติ กขช.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของ อคส.นั้น คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นบุคคลภายในของ อคส. จึงไม่แน่ใจว่าการตรวจสอบจะพบความผิดปกติหรือไม่ ทั้งนี้ การดำเนินการของ อคส.อยู่ในการกำกับดูแลของ กขช. เมื่อพบว่าการระบายข้าวถุงมีการทุจริตและยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นได้ จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลเพียง 16 คน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธาน กขช. แต่คณะกรรมการ กขช.อีก 23 คน ป.ป.ช.ยังไม่มีดุลพินิจ ไม่ทราบ ป.ป.ช.ว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่

หลังไต่สวนพยานปากนี้เสร็จ อัยการได้นำนายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าเบิกความเป็นพยาน สรุปว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือด่วนที่สุดเกี่ยวกับข้อห่วงใยในการดำเนินโครงการจำนำข้าวถึงนายกรัฐมนตรี 4 ฉบับเพื่อให้มีการแก้ไขโดยเร็ว และได้ให้การเรื่องดังกล่าวรวมถึงจัดทำรายงานการตรวจสอบโครงการจำนำข้าวที่ระบุหนี้สินโครงการระบายข้าวกว่า 5.4 แสนล้านบาท ส่งให้ ป.ป.ช.ด้วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวพยานได้ข้อมูลจาก อคส. สำหรับหนังสือฉบับแรกนั้นเป็นการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐพบปัญหาและความเสี่ยงของโครงการ จึงทำหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นข้อมูลกำหนดแนวทางดำเนินโครงการไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนฉบับที่ 2 ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการออกใบประทวนให้เป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้รับการชี้แจงกลับมา ขณะที่หนังสือฉบับที่ 3 ได้แจ้งปัญหาและความไม่โปร่งใสของโครงการจำนำข้าว และฉบับที่ 4 เป็นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและยุติโครงการจำนำข้าว แม้จะไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหรือมีหลักฐานยืนยันความไม่โปร่งใสของโครงการ แต่ก็ได้วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลของโครงการครั้งก่อนๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน ซึ่งพยานยอมรับว่าหลังทำหนังสือแล้วไม่ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อติดตามดูและให้ความเป็นธรรมการดำเนินโครงการจำนำข้าว และตรวจสอบการทุจริตเยียวยาฟื้นฟูฯ รวมถึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์นำข้อเสนอแนะของ สตง.ไปดำเนินการ ซึ่งหลังรับคำสั่งทางกระทรวงพาณิชย์ขอหนังสือฉบับที่ 1-2 แสดงให้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้รับทราบคำแนะนำแต่แรก ต่อมากระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการจำนำข้าวตามความเห็นของสตง. และรายงานการตรวจสอบให้ สตง.ทราบ

ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จทั้ง 2 ปาก อัยการโจทก์ได้อ้างส่งเอกสารสรุปประเด็นหนังสือ 4 ฉบับของ สตง.ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี โดยศาลรับไว้พิจารณา ซึ่งจำเลยจะขอทำคำคัดค้านเอกสารดังกล่าวต่อไป ขณะที่ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 22 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น.

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น