“อาคม” เผยญี่ปุ่นเสนอแบ่งเฟสก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพื่อความเหมาะสม ขณะที่รัฐควรลงทุนโครงสร้างและร่วมทุนเอกชน (PPP) เฉพาะเดินรถ พร้อมรับลูก “นายกฯ” พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สองข้างทาง และสถานีสร้างมูลค่าสูงสุด ปรับเป็นให้สิทธิ์เอกชนพัฒนาเพิ่มมูลค่าแทนการให้เช่า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายฮิโรยูกิ มิซุย ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบราง ว่าไจก้าได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาสำรวจเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร (กม.) โดยจะสรุปผลการศึกษาและสำรวจเบื้องต้นในเดือน มิ.ย.นี้ เช่น ประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสาร ต้นทุนโครงการ ผลตอบแทนการลงทุน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการลงทุน และจะรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะสรุปในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทราบว่าโครงการมีความคุ้มค่าหรือไม่ จากนั้นจะเริ่มการออกแบบรายละเอียดในปี 2560
ทั้งนี้ การก่อสร้างที่เหมาะสม เบื้องต้นจะแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟส และต่อขยายเป็นช่วงๆ เนื่องจากรถไฟความเร็วสูง ใช้เงินลงทุนสูงมาก หากทำทีเดียวตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผลตอบแทนจะไม่คุ้มค่า และใช้ระยะเวลาคืนทุนนาน โดยทางญี่ปุ่นได้เสนอแบ่งเฟสก่อสร้าง โดยเฟสแรกอาจจะเริ่มจากกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเทพฯ-ลพบุรี หรือกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ หรือกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งยังไม่ได้สรุป โดยจะต้องประเมินค่าก่อสร้าง ความเป็นไปได้ในการลงทุน กับระยะทางที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาเมือง การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะพิจารณาทั้งรูปแบบรัฐลงทุน 100% หรือลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) งานเดินรถซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่า ส่วนทางญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมหรือไม่อย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึง เพราะเทคโนโลยี ชินคันเซ็นของญี่ปุ่น มีคุณภาพสูงดังนั้นญี่ปุ่นจะระมัดระวังมากในการนำเทคโนโลยีออกนอกประเทศการทำงานต่างๆ จะต้องมั่นใจว่าจะต้องประสบความสำเร็จ ดังนั้นจะต้องรอผลศึกษาก่อนว่าโครงการมีความเหมาะสมและคุ้มค่าแค่ไหน ขณะที่การเปิดให้เอกชนลงทุนทั้งหมดค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม ได้นำข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองข้างทางรถไฟ และสถานี ซึ่งเป็นที่ดินรถไฟสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะปรับรูปแบบจากเดิมที่ให้สิทธิ์ในการเช่าในราคาถูกไปสร้างตึกแถว เป็นการให้สิทธิ์ในการพัฒนาเพราะจะสร้างมูลค่าได้สูงกว่า โดยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์การค้า หรือศูนย์ด้านลอจิสติกส์ได้ ซึ่งทางญี่ปุ่นจะศึกษาการพัฒนาเมืองตลอดเส้นทาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับโครงการและเพิ่มจำนวนผู้โดยสารอีกด้วย
“ที่ดินรถไฟสามารถนำมาพัฒนาได้ ไม่ติดปัญหาเหมือนถนนหรือรถไฟฟ้าที่การนำที่ดินจากการเวนคืนมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะติดขัดข้อกฎหมาย ที่ไม่เปิดช่อง เพราะที่ดินที่เวนคืนมา จะทำได้เฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในส่วนนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530”