xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีดีลาดกระบังไม่ผูกขาด! ศาลปกครองยกเลิกคำสั่งคุ้มครอง เร่งประมูลต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดยกเลิกคำสั่งคุ้มครอง ปลดล็อกประมูลบริหาร ไอซีดี ลาดกระบัง ร.ฟ.ท.เดินหน้าเปิดยื่นซอง 16 พ.ค.นี้ เลือกรายที่เสนอค่าบริการต่ำสุดบริหารสัมปทาน 20 ปีเพื่อจูงใจให้ใช้ขนส่งทางรางเพิ่ม ยืนยันรายเดียวบริหาร 6 สถานีไม่ผูกขาด แต่เป็นการแก้ปัญหา

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 58 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการประกวดราคาเพื่อสรรหาเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องระงับการประกวดราคา เนื่องจากบริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า TOR กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลรายใหญ่หรือกิจการร่วมค้าเพียงรายเดียวเข้าบริหารทั้ง 6 สถานีนั้นเป็นการผูกขาด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 59 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองแล้ว ทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถเดินหน้าประกวดราคาต่อไปได้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มอำนวยการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกเลิกคุ้มครองแล้ว ร.ฟ.ท.จะเดินหน้าการประกวดราคาตามขั้นตอน พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) โดยคณะกรรมการมาตรา 35 ได้ประชุมและกำหนดให้ผู้ที่ซื้อเอกสารประกวดราคาประมาณ 15 ราย ยื่นข้อเสนอเอกสารประกวดราคาในวันที่ 16 พ.ค. 59 และคาดว่าจะพิจารณาคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาแล้วเสร็จภายใน 1.5 เดือน

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ร.ฟ.ท.ต้องหยุดกระบวนการประกวดราคาทันที และได้มอบหมายให้ฝ่ายอนาบาล (กฎหมาย) ร.ฟ.ท.รวบรวมเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครอง โดยเฉพาะการกำหนดให้มีผู้บริหารรายเดียวทั้ง 6 สถานีจากเดิมแยก 1 รายต่อ 1 สถานีนั้น เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่มีในอดีต โดยพบว่าจะทำให้สามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการดีขึ้น และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอย่างครบถ้วน เมื่อเปิดขายซองประกวดราคามีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวนมากถึง 14-15 ราย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถรวมกลุ่มเข้ามายื่นข้อเสนอได้ ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด

สำหรับการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการไอซีดีลาดกระบัง จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคารายที่เสนอค่าบริการต่ำที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ใช้รางในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้ว โดยเอกชนจะรับผิดชอบลงทุน เครื่องมือให้บริการต่างๆ และค่าบำรุงรักษาถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น

ส่วนผลตอบแทนภาครัฐนั้นกำหนดเป็นอัตราคงที่ โดยปีที่ 1-5 ที่อัตรา 67 บาทต่อตารางเมตร และปรับทุกๆ 5 ปีในอัตราคงที่ จนครบอายุสัมปทาน 20 ปี ซึ่งมีผลดีคือ เอกชนจะมีต้นทุนที่ชัดเจนและกำหนดค่าบริการที่เหมาะสมได้

สำหรับผู้ประกอบการที่บริหารไอซีดีเดิม ประกอบด้วย สถานี A บริษัท สยามเซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด สถานี B บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด สถานี C บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด สถานี D บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด สถานี E บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด สถานี F บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น