“ศาลปกครอง” มีคำสั่งคุ้มครอง ระงับการประมูลไอซีดีลาดกระบัง หลังมีเอกชนร้อง TOR เข้าข่ายผูกขาด “อาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.เร่งชี้แจงเหตุผล ชี้เคยเตือนไปแล้วให้เปิดรับฟังความเห็นเพื่อความรอบคอบ ด้าน “วุฒิชาติ” เตรียมยื่นอุทธรณ์ขอทุเลาคำสั่ง ยืนยันรายเดียวบริหาร 6 สถานีไม่ผูกขาด จับตาวงการรับส่งสินค้าระส่ำ หวั่นรายใหญ่กินรวบสัมปทาน 20 ปี
รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำสั่งคุ้มครองการประกวดราคาเพื่อสรรหาเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากมีการกำหนด TOR กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลรายใหญ่ หรือกิจการร่วมค้า เพียงรายเดียวเข้าบริหารทั้ง 6 สถานีนั้นเป็นการผูกขาด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องหยุดกระบวนการประกวดราคาทันทีนั้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทาง ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา ทั้งนี้ การประกวดราคาเพื่อหาผู้รับสัมปทานบริหารไอซีดี ลาดกระบังนั้นจะเป็นรายเดียวบริหารทั้ง 6 สถานี หรือกี่รายนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ได้ความชัดเจนก่อน และก่อนหน้านี้ได้เคยมีผู้ประกอบการมาร้องเรียนประเด็นดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคมแล้วซึ่งได้แจ้งให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการให้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้ กระบวนการเปิดซองประมูลจะต้องหยุดไว้ก่อน และจะให้ ร.ฟ.ท.ชี้แจงรายละเอียดเพื่อพิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป พร้อมกันนี้จะต้องนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีให้เหลือผู้บริหารน้อยราย จากเดิมที่ 6 สถานีมีผู้บริหาร 6 ราย นั้นว่าควรเป็นอย่างไร
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายอนาบาล (กฎหมาย) ร.ฟ.ท. รวบรวมเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการเพื่อยื่นอุทธรณ์ทุเลาคำสั่งของศาลปกครอง ทั้งนี้ การกำหนดให้มีผู้บริหารรายเดียวทั้ง 6 สถานีนั้น เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่มีในอดีต โดยพบว่าจะทำให้สามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการดีขึ้น และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอย่างครบถ้วน โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา 14-15 ราย ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถรวมกลุ่มเข้ามายื่นข้อเสนอได้ ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด
สำหรับการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการไอซีดี ที่ลาดกระบัง ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยเงื่อนไขในทีโออาร์กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลรายใหญ่ หรือกิจการร่วมค้า เพียงรายเดียวเข้าบริหารทั้ง 6 สถานี โดยพิจารณาข้อเสนอด้านราคารายที่เสนอค่าบริการต่ำที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ใช้รางในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้ว โดยเอกชนจะรับผิดชอบลงทุน เครื่องมือให้บริการต่างๆและค่าบำรุงรักษาถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความสภาพสมบูรณ์เท่านั้น ส่วนผลตอบแทนภาครัฐนั้นกำหนดเป็นอัตราคงที่ โดยปีที่ 1-5 ที่อัตรา 67 บาทต่อตารางเมตร และปรับทุกๆ 5 ปี ในอัตราคงที่ จนครบอายุสัมปทาน 20 ปี ซึ่งมีผลดีคือ เอกชนจะมีต้นทุนที่ชัดเจนและกำหนดค่าบริการที่เหมาะสมได้
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การปรับจาก 6 รายบริหาร 6 สถานี เหลือรายเดียวนั้น แม้ว่าจะยืนยันว่าเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุนกันเข้ามาได้ แต่ในทางธุรกิจทำได้ยาก เรื่องนี้ ร.ฟ.ท.จึงต้องชี้แจงให้ได้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นการผูกขาดได้อย่างไร ในแวดวงผู้ประกอบการทราบกันว่าโครงการนี้มีกลุ่มอิทธิพลที่ต้องรวบผลประโยชน์ไว้เพียงคนเดียว
สำหรับผู้ประกอบการที่บริหารไอซีดีเดิม ประกอบด้วย สถานี A บริษัท สยามเซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด สถานี B บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด สถานี C บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด สถานี D บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด สถานี E บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัดสถานี F บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด