“อนันตพร” ย้ำยังเดินหน้ารับซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์มราชการ และสหกรณ์ฯ ให้ครบ 800 เมกะวัตต์หากที่สุดโซลาร์ราชการมีปัญหาแก้ไม่ได้จริงจึงจะเสนอ กพช.ทบทวนนโยบาย ด้าน “กกพ.” ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเฟสแรกเฉพาะโซลาร์สหกรณ์ 167 ราย รอจับสลาก 21 เม.ย. ส่วนโซลาร์ราชการติด PPP ทั้งหมดเตรียมยกยอดไปเฟส 2 ต้นปี 2560
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่านโยบายของกระทรวงพลังงานยังคงให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรพ.ศ. 2558 จำนวนทั้งสิ้น 800 เมกะวัตต์ซึ่งระยะแรกจะรับซื้อก่อน 600 เมกะวัตต์นั้น หากที่สุดไม่สามารถดำเนินการได้ครบจะยกยอดไปดำเนินการในเฟสต่อไปเพื่อให้ครบเป้าหมาย
“เราส่งเสริมโครงการนี้ทั้งหมด 800 เมกะวัตต์แบ่งเป็นโซลาร์ราชการ 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ฯ 400 เมกะวัตต์ซึ่งวันที่ 21 เม.ย.นี้จะมีการจับสลากในเฟสแรกก่อนที่จะเปิด 600 เมกะวัตต์ คือทำไปได้แค่ไหนก็คือแค่นั้น ที่เหลือก็จะเอาไปไว้เฟสต่อไป แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทบทวนนโยบายต่อไป” รมว.พลังงานกล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และในฐานะโฆษก กกพ.กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกคุณสมบัติที่จะผ่านเข้าไปจับสลากในการเสนอขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มเฉพาะสหกรณ์ฯ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ มีทั้งสิ้น 167 ราย จำนวน 835 เมกะวัตต์ ขณะที่ระยะแรกรัฐจะรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มสหรกรณ์เพียง 300 เมกะวัตต์ ดังนั้น ส่วนที่เหลือจะยกไปเฟสที่ 2 หรือคิดเป็นจำนวน 500 เมกะวัตต์แยกเป็นโซลาร์ราชการ 400 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 100 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเปิดให้ยื่นได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2560
“ก่อนหน้านี้เราเปิดรับสมัครและเกิดปัญหาผังเมืองจึงมีการแก้ไขทำให้ต้องนำมาคัดเลือกใหม่ รวมถึงกรณีปัญหา พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ PPP ซึ่งทางอัยการและกฤษฏีกายืนยันชัดเจนว่าหน่วยราชการติด พ.ร.บ.ร่วมทุนหมดและต่อมามีการแก้ไข คณะอนุกรรมการฯที่พิจารณาคุณสมบัติได้พิจารณาที่มีการยื่นข้อเสนอเมื่อ 20 พ.ย. 2558 ก็พบว่าไม่มีหัวหน้าส่วนราชการลงนามรับรองเสนอโครงการมาสักรายเดียว ดังนั้น วันที่ 21 เม.ย.นี้จึงจับสลากแค่เพียงโซลาร์สหกรณ์ซึ่งจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการในวันเดียวกันช่วงบ่าย และต้องเสนอบอร์ด กกพ.อีกครั้งเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค.” นายวีระพลกล่าว
สำหรับโซลาร์ราชการในเฟส 2 นั้นผู้ที่จะยื่นเสนอขายไฟก็สามารถไปทำตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนที่มีการผ่อนผันให้กระบวนการง่ายขึ้นแล้วเพื่อเสนอมาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน กกพ.เตรียมที่จะเปิด FiT Bidding ในส่วนของไฟฟ้าชีวมวล 36 เมกะวัตต์ในภาคใต้คาดว่าจะเป็นช่วง พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นกลางปีจะเป็นการเปิดรอบที่ 2 แบบรับซื้อทั่วประเทศ ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์นั้นกำลังหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พ.ค.นี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีที่จังหวัดใดบ้าง เป็นต้น
นายวีระพลกล่าวถึง ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) ว่า บอร์ด กกพ.จะพิจารณาวันที่ 20 เม.ย.นี้เบื้องต้นมีแนวโน้มลดลงแน่นอนเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งการพยากรณ์การใช้ไฟที่ลดลงกว่าที่คาด ค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาก๊าซฯ ลดลง รวมถึงภาระการชดเชยค่าไฟจากการรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์ แต่ทั้งนี้งวดหน้าภาระดังกล่าวจะมีมากขึ้นดังนั้นจะมีการนำค่าไฟที่ลดงวดนี้ไปเกลี่ยกับค่าไฟงวดหน้าคงไม่ให้ลงทั้งหมด