กลุ่มอุตฯ พลังงานทดแทน ส.อ.ท.เตรียมตบเท้าหารือหัวหน้าฝ่าย ศก. “คสช.” เร็วๆ นี้ เสนอทบทวนนโยบายส่งเสริมหวังกลับไปใช้ระบบเก่า ADDER ชี้ระบบ Feed in tariff ในยุโรปล้มเหลวแล้ว หนุนเดินหน้าโซลาร์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ต่อแต่ให้ร่าง TOR ใหม่ เพิ่ม ADDER โรงไฟฟ้าขยะ-ชีวมวล ลดซื้อไฟจากหญ้าเนเปียร์ลง
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้จะเข้าพบกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทดแทนของไทยด้วยการให้ส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้า หรือ ADDER ที่เหมาะสมในแต่ละประเภทเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้เปลี่ยนระบบ ADDER มาเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in tariff ที่สะท้อนต้นทุนจริง ซึ่งภาคเอกชนไม่เห็นด้วยเนื่องจากขณะนี้ในประเทศยุโรประบบดังกล่าวได้พิสูจน์ถึงความล้มเหลวแล้ว
“ทางยุโรปได้มีหนังสือเวียนมาถึงความล้มเหลวระบบ Feed in tariff จึงเห็นว่าไทยเองก็ควรจะทบทวนดูเพราะที่ผ่านมาเราเองก็ไม่เห็นด้วยเพราะ ADDER จะขึ้นตามค่าไฟฟ้าฐาน ขณะที่ Feed in tariff จะมีอัตราคงที่ตลอดสัญญาขายไฟ ซึ่งธุรกิจมีความเสี่ยงสูงกว่าและธนาคารเองก็คิดมากในเรื่องเงินกู้ด้วย” นายพิชัยกล่าว
สำหรับแนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่จะเสนอสำคัญๆ ได้แก่ 1. พลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์นั้นเห็นว่าควรจะดำเนินการต่อไป แต่ขอให้ทำการกำหนดกติกาและเงื่อนไขการเปิดรับหรือ TOR ใหม่ที่ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ดำเนินการแล้วเชิญตัวแทนทุกฝ่ายร่วมร่าง TOR เพื่อป้องกันการล็อกสเปกและให้ประโยชน์ตกที่ชุมชนอย่างแท้จริง
2. พลังงานไฟฟ้าจากขยะ เบื้องต้นทราบว่ากระทรวงพลังงานมีโครงการนำร่อง 3-4 แห่งและให้เงินอุดหนุนประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้ทำให้เกิดการกักขยะจากท้องถิ่นเพื่อหวังว่าจะเรียกเงินอุดหนุนเช่นกันทำให้เป็นนโยบายที่กำลังจะเดินผิดทาง ที่ถูกต้องต้องให้แข่งขันกันเองด้วยการเพิ่ม ADDER ให้จากขณะนี้ 3.50 บาทต่อหน่วยสัญญา 7 ปีควรจะเพิ่มเป็น 4.50 บาทต่อหน่วย หรือหากคงเดิมก็ควรขยายสัญญาเป็น 10 ปี
3. พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ขณะนี้ต้องยอมรับว่าวัตถุดิบหลายอย่างมีราคาที่สูงและจัดหายากขึ้นทำให้รายเดิมเริ่มทยอยขาดทุนและรายใหม่เองก็เกิดขึ้นยังไม่ได้มากนักตามเป้าหมายทำให้ปัจจุบันมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบจริงเพียง 1 ใน 3 ของเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะทบทวนวัตถุดิบบางประเภทไปไม่ไหวจริงก็ต้องเลิกส่งเสริมแต่อะไรที่เห็นว่าควรจะเดินหน้าก็ควรจะเพิ่ม ADDER จากขณะนี้อยู่ที่เพียง 0.30 บาทต่อหน่วยควรจะปรับเพิ่มเป็น 1 บาทต่อหน่วย ส่วนการผลิตไฟจากหญ้าเนเปียร์นั้นเห็นว่าควรจะเดินหน้าได้ด้วยการเพิ่ม ADDER แต่ต้องทบทวนตัวเลขการรับซื้อไฟฟ้าจาก 3,000 เมกะวัตต์ให้ลดลงเพราะมากเกินไป