ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ที่เลขาธิการ คสช. เป็นประธาน ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด พร้อมเห็นชอบแนวทางจัดสรรงบปี 58 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพลังงานทดแทน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชน ทั้งแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ จัดตั้งสถานีผลิตในหน่วยงานราชการ และสนับสนุนการลงทุนระดับครัวเรือน
วันนี้ (1 ก.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ พิจารณา เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในแต่ละปี และ 2. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนฯ มีรองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับราชการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนงานโครงการต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดที่เหลือ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบหลักเกณฑ์ แนวทางการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ในการดำเนินโครงการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และด้านพลังงานทดแทน โดยแนวทางการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพในปี 2558 เป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ที่มีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน และอาคารตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 การสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารและบ้านอยู่อาศัย การรณรงค์ปลูกจิตสำนึก และให้ความรู้ความเข้าใจในด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง การดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมกับประเทศ และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน ให้มีจำนวนมากเพียงพอที่จะดำเนินการให้งานด้านพลังงานของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์
ส่วนแนวทางการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทน จะดำเนินการตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก อาทิ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับชุมชน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ การสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตไฟฟ้าของประเทศให้รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนการปรับปรุง หรือทบทวนมาตรการสนับสนุนด้านการเงินและแรงจูงใจเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 ได้ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า ด้วยการสนับสนุนการลงทุน เพื่อผลิตพลังงานทดแทนในลักษณะกองทุนร่วมทุนด้านพลังงานทดแทนระดับชุมชน การจัดตั้งสถานีผลิตพลังงานชุมชนในหน่วยงานราชการ การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนการลงทุนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือน ทั้งนี้ ได้มอบให้คณะอนุกรรมการฯ ที่ได้จัดตั้งขึ้นไปศึกษาในรายละเอียด เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป