เชลล์ เผยผลสำรวจพลังงานในเอเชียพบว่า ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เป็น 3 ประเทศอันดับแรกของ 9 ประเทศในอาเซียนอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง “ปัญหาความต้องการใช้พลังงานในอนาคต”
เป็นผลสำรวจของหน่วยงานด้านพลังงานแห่งอนาคตของเชลล์ โดยการสอบถามจากประชากรจำนวน 8,446 คน จาก 31 เมือง ใน 9 ภูมิภาค พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ตอบ กังวลถึงความต้องการพลังงานระยะยาวในอนาคต โดยให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องระบบการศึกษาของรัฐ และค่าครองชีพ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และขาดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังโดยภาครัฐ
ผลสำรวจดังกล่าวชี้ด้วยว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่ทุกประเทศต้องการมากที่สุด เช่น สิงคโปร์ (ร้อยละ 86) ไทย (ร้อยละ 83) และอินเดีย (ร้อยละ 77) ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติก็เป็นที่ต้องการมากที่สุดในบรูไน (ร้อยละ 87) รองลงมา สิงคโปร์ (ร้อยละ 52) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 43) และอินเดีย (ร้อยละ 43)
ขณะที่รายงานของธนาคาร เอดีบี มองถึงความท้าทายของกลไกตลาดพลังงานในเอเชียเกิดจากการเติบโตเร็ว ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น พร้อมได้คาดการณ์ไปอีก 20 กว่าปีข้างหน้า ว่าจะต้องวางแผนในระยะยาว หากไม่ต้องการให้เอเชียขาดแคลนพลังงาน
โดยเฉพาะประเทศไทย และ เกาหลีใต้ ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความกังวลมากที่สุดว่าจะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งในข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะพลังงานน้ำมัน และก๊าซของไทย อีกไม่เกิน 10-15 ปี ก็จะหมดไป เมื่อถึงเวลานั้นจะหาพลังงานจากแหล่งใดมาชดเชยให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ทวีปเอเชีย มีการบริโภคพลังงานถึง 51-56% ของการบริโภคพลังงานทั้งโลกจากปัจจุบันบริโภคพลังงานเพียง 1 ใน 3 ดังนั้น การลงทุนในเรื่องของพลังงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการลงทุนดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงการกระจายความเจริญไปทุกภูมิภาคและเปิดโอกาสให้คนที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้
เอดีบีเสนอด้วยว่า สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ ทำให้ราคาของพลังงานนั้นสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ใช้ได้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีหลายประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนด้านราคาที่มีต้นทุนสูงมาก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ใช้ต้นทุนการแทรกแซงราคา มากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และมากกว่า 4% ในบังกลาเทศ และปากีสถาน
ในประเด็นการหาพลังงานทดแทนน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คำตอบที่ให้เป็นทางเลือกเหมาะสมในขณะนี้ คือ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ ที่มีราคาถูกลงสำหรับการลงทุน เพียงแต่ยังขาดแรงสนับสนุน แรงจูงใจในเชิงนโยบายบายจากภาครัฐ ส่วนกรณีพลังงานจากน้ำในอนาคตคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เนื่องจากกระแสต่อต้านด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ดังนั้น พลังงานของภูมิภาคเอเชียในอนาคตข้างหน้า จะไม่ถึง "จุดวิกฤต" หากประเทศต่างๆ ในเอเชียร่วมมือกันผลักดันโดยสร้างเครือข่ายร่วมกัน เช่น มีระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าข้ามประเทศ มีการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานจากน้ำมันดิบ ทั้งนี้ ตัวอย่างของการใช้พลังงานในสหภาพยุโรป ที่ผ่านมา น่าจะเป็นต้นแบบที่ดี เพราะมีทั้งความสำเร็จ และล้มเหลว
ข้อมูลอ้างอิง : สมาคมผู้รับผิดชอบ ด้านพลังงาน