“พาณิชย์” เผยผลรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่หนุนไทยเข้าร่วมข้อตกลง TPP หวั่นไม่ชัดเจนจะกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หลังคู่แข่งในอาเซียน 4 ประเทศเข้าร่วมแล้ว และยังมีอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ประกาศเข้าร่วม ส่วนภาคเกษตรกังวลเรื่องใช้เมล็ดพันธุ์พืช GMOs แต่เอาเข้าจริงไม่กระทบ เตรียมแจงต่ออีกหลายจังหวัด พร้อมนำผลสรุปชงอนุกรรมการศึกษา TPP พิจารณา ก่อนชงนายกฯ ประกาศท่าทีไทยเดือน พ.ค.นี้
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรและภาครัฐในส่วนกรุงเทพฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าการเข้าร่วม TPP จะเกิดประโยชน์ต่อไทย แต่ในด้านผลกระทบนั้นจะต้องมีมาตรการดูแลให้รอบคอบและชัดเจน และเห็นอีกว่าการรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ ต้องรับฟังความคิดเห็นในส่วนของต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ซึ่งกระทรวงฯ ได้เริ่มลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นแล้ว
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร ได้ทำแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่แม่สอด จ.ตาก จ.นครศรีธรรมราช และล่าสุดที่ จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้แทนสภาเกษตรกรจาก 20 จังหวัดในภาคอีสานกว่า 150 คนเข้าร่วม ซึ่งได้มีการชี้แจงในประเด็นที่เกษตรกรยังมีความกังวล เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ ไม่ได้มีการห้าม แต่ห้ามนำไปเพาะปลูกแล้วนำเมล็ดพันธุ์ไปใช้ทางการค้า ส่วนเรื่องพืช GMOs ในความตกลง TPP กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น ไทยยังกำหนดเงื่อนไขในการดูแลได้ตามกฎหมาย คือ เมล็ดพันธุ์ใช้ในแปลงทดลองได้ แต่ห้ามนำไปใช้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อพันธุ์พืชท้องถิ่นที่อาจสูญหายจากการปรับปรุงพันธุ์ และยังขาดการพัฒนาพันธุ์ให้ทัดเทียมกับต่างชาติ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ที่ขอรับการคุ้มครองของไทย ซึ่งกระทรวงฯ จะประสานไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนภาคการเกษตร เช่น ขอให้มีศูนย์เพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เช่น ข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นโดยใช้ต้นทุนต่ำ การให้ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง การจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเพิ่มผลผลิต และการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งกระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการและถือเป็นนโยบายอยู่แล้ว
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งต่อไปมีกำหนดการจะเดินทางไปที่ จ.จันทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สงขลา พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความตกลง TPP
นายวินิจฉัยกล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นมาทั้งหมด ทำให้ทราบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลง TPP เพราะช้าไปแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเข้าไม่เข้า แต่ไทยต้องประกาศให้ชัดว่าจะเข้า ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบประเทศในอาเซียนที่เข้าไปแล้ว อย่างเวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เพราะนักลงทุนเวลาจะมาลงทุนก็จะมองผลประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นที่ตั้ง ถ้าไทยไม่เข้าก็จะเสียเปรียบ
“ถ้าเราไม่เข้า ค่อนข้างมีผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและเงินทุนที่จะเข้ามา เพราะนักลงทุนจะมองโอกาสในการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นที่ตั้ง ดูอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ประกาศจะเข้าร่วม TPP นักลงทุนก็เกิดความมั่นใจ เป็นผลทางจิตวิทยา ถ้าไทยไม่ชัดเจน ก็จะมีปัญหาได้ เพราะกฎกติกาทางการค้า ถ้าเราไม่ปรับตอนนี้ ต่อไปก็ต้องปรับอยู่ดี เพราะยังมี RCEP ที่กำลังเจรจากันอยู่ รวมไปถึง FTAAP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ส่วนทางด้านผลกระทบ เท่าที่รับฟังความคิดเห็นมา มีความกังวลในประเด็นสิทธิบัตรยา เช่น การชดเชยความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร การการขึ้นทะเบียนยาที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยปรับปรุงกระบวนการภายในประเทศ และยังกังวลในเรื่องการคุ้มครองยาที่นานเกินไป รวมทั้งยังมีความกังวลในภาคปศุสัตว์ซึ่งเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องในหมูและชิ้นส่วนไก่
นายวินิจฉัยกล่าวว่า จะรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นทั้งหมด ทั้งผลดี ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขเสนอให้คณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 27 เม.ย. 2559 และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประกาศท่าทีของไทยในการเข้าร่วม TPP ต่อไป