xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จับมือ มทร.ล้านนา นำงานวิจัยยกระดับภาคการเกษตรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

    ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. (ที่2 ซ้าย) ลงนามร่วมกับ อธิการบดี มทร.ล้านนา (ที่2 ขวา)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา 9 แห่ง) ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาด้านการเกษตร ชุมชนและสังคม และร่วมกันยกระดับหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมให้มีศักยภาพและมาตรฐานสูงขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศ และเกี่ยวข้องประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทาง สวทช.จำเป็นต้องมีพันธมิตรร่วมทาง และให้ความสำคัญใน 4 พันธกิจ ทั้งด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม การพัฒนาด้านกำลังคน การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและเกษตรกร

ที่ผ่านมา สวทช.ร่วมกับ มทร.ล้านนา ที่ดำเนินการร่วมกันในการช่วยเหลือสังคม ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ผ่านงานวิจัยต่างๆ เช่น ความร่วมมือในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 ต้านทานโรคไหม้ “ธัญสิริน” ซึ่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับกรมการข้าวและ มทร.ล้านนา พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานโรคไหม้และคุณภาพหุงต้มร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ได้พันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้านทานโรคไหม้ ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไหม้

“นอกจากการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องข้าวแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องอื่นๆ เช่น ข้าวไร่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และการผลิตพริกเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชในวงศ์แตง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเครือข่ายหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมภายใต้คลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ของประเทศ”

ทั้งนี้ นอกจากด้านการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมแล้วยังได้ร่วมกันพัฒนาบุคลากรของประเทศ อาทิ การสร้างนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นใหม่ โดยจัดฝึกอบรมนักปรับปรุงพันธุ์และจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ในด้านการจัดการน้ำและธาตุอาหารพืช การพัฒนาพันธุ์พืชวงศ์แตง และแตงโมไร้เมล็ด เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวต่อว่า ความร่วมมือกับทาง สวทช.ในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านามีพันธกิจที่มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ มทร.ธัญบุรี, มทร.กรุงเทพ, มทร.ตะวันออก, มทร.สุวรรณภูมิ, มทร.ศรีวิชัย, มทร.พระนคร, มทร.อีสาน, มทร.รัตนโกสินทร์ และ มทร.ล้านนา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ Research for Community ร่วมกัน

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง และชุมชน โดยมีการแบ่งปันองค์ความรู้ ทรัพยากรทั้งด้านบุคคล และวัสดุอุปกรณ์อย่างมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการนำความรู้และเทคโนโลยีไปขยายผลสู่เกษตรกรในวงกว้างและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของชุมชน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น