xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสัตวแพทย์ร่วมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวผสมเทียมเชื้อสดอนุรักษ์ช้างไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทีมสัตวแพทย์ศาสตร์ ร่วมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ทำการผสมเทียมช้างไทย โดยใช้น้ำเชื้อสดจากพ่อพันธุ์ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แล้วนำเชื้อที่ได้ฉีดเข้าพังกอบทอง ที่เคยถูกรถชนมา เพื่อให้ช่วยเพิ่มอัตราการเกิดของช้าง เพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยสืบไป

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอศรีราชา นายสุริยา แสงพงษ์ ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และทางสัตวแพทย์เกษตรศาสตร์ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ในการรีดน้ำเชื้อช้างแล้วนำเชื้อสดฉีดเข้าไปยังพังกอบทองเพื่อทำการขยายพันธ์ช้างไทย โดยมี รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ มาเป็นผู้คอยควบคุมการผสมเทียมสดช้างในครั้งนี้

นายวรญาณ นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า วันนี้ได้มาดูการผสมเทียมช้างที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของโลกก็ว่าได้ที่ใช้วิธีการผสมเทียมช้างจากน้ำเชื้อช้างสด ซึ่งยังไม่เคยมีที่ไหนทำการผสมเทียมลักษณะเช่นนี้ และถือว่าน่าจะเป็นแห่งเดียวของโลก และการผสมเทียมแบบนี้จะทำให้เป็นการอนุรักษ์ช้างไทยเราให้คงอยู่ และมีความหวังที่ช้างไทยจะไม่สูญพันธุ์ด้วย

รศ.นสพ.ดร.นิกร กล่าวว่า วิธีนี้ถือเป็นทางเลือกทางหนึ่งให้แก่ช้าง ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างพันธุกรรมให้มาก เพื่อเพิ่มประชากรช้างให้มีคุณภาพ และเป็นทางเลือกแบบธรรมชาติด้วย และในวันนี้ก็ได้มีการนำน้ำเชื้อจากช้างช้างพลายมงคล อายุ 28 ปี ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่มีคุณภาพที่ดีมาเพื่อทำการผสมกับช้างเพศเมีย ชื่อ พังกอบทอง อายุ 51 ปี 2 เดือน ที่เคยประสบเหตุถูกรถชนมาแล้วจนขาหน้าหัก ก่อนจะเริ่มหายดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงช้างจะมีการพิการแต่ก็สามารถเป็นแม่พันธุ์ช้างที่ดีได้ และการผสมเทียมครั้งนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ช้างไทยสูญพันธุ์ หรือลดน้อยลงไป

นายสุริยา แสงพงษ์ ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กล่าวว่า วันนี้ถือว่าทางสวนสัตว์โชคดีมากที่มีทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความสำคัญต่อการดูแลสายพันธุ์ของช้างไทยที่ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ คู่บ้านคู่เมืองเรามา ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันดีที่มีการผสมเทียมช้างที่ยังมีหน่วยงานให้ความสำคัญช้างไทยในการร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทยในการร่วมกันผสมเทียมช้างเพื่อการขยายสายพันธุ์ช้างไทยสืบไป

จากการผสมเทียมช้างวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้นำช้างพลายมงคล อายุ 28 ปี ทำการรีดน้ำเชื้อออกมา แล้วนำพังกอบทอง อายุ 51 ปี 2 เดือน ที่เคยประสบเหตุรถชนจนขาหน้าหัก และพิการมาทำการผสมเทียมสด เพื่อให้เห็นว่าถึงช้างจะมีการพิการแต่ก็สามารถเป็นแม่พันธุ์ช้างไทยที่ดีได้ และหลังจากนี้ประมาณ 4 เดือน ก็จะมีการตรวจสอบวงรอบในการตั้งท้องของช้างพังกอบทอง ถึงความแข็งแรงจากเชื้อที่ฉีดเข้าไปผสมว่าเป็นเช่นไร

หากพังกอบทอง ตกลูกออกมาแล้ว จะได้มีการศึกษาความสมบูรณ์ของลูกช้าง เพื่อนำไปพัฒนาในการผสมเทียมให้สามารถผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสด หรือแช่แข็งให้สำเร็จต่อไป เพื่อเป็นการปรับปรุงพันธุ์ช้างไทยเราให้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ช้างมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น เพราะช้างมีข้อจำกัดในการผสมพันธุ์ คือ วงรอบตกไข่ของตัวเมียนานถึง 4 เดือน ระยะเวลาตั้งท้องนานเกือบ 2 ปี และช้างเป็นสัตว์เลือกคู่ ไม่ผสมพันธุ์กันง่ายเหมือนสัตว์อื่น ถ้าตัวผู้ตัวเมียไม่ชอบกันจะไม่ผสมพันธุ์กันเลย และอาจทำให้สูญพันธุ์ไปได้

โดยประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทย ปัจจุบันกำลังลดจำนวนลงเป็นอย่างมากด้วยสาเหตุต่างๆหลายประการ เช่น การได้รับบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จนล้มตาย หรือการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ ทำให้ที่ผ่านมา ช้างเลี้ยงในประเทศไทยได้ลดจำนวนน้อยลงไปมาก และอาจมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดของช้างเลี้ยงน้อยกว่าอัตราการตาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ช้างมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้

ดังนั้น การผสมพันธุ์ของช้างในปัจจุบันโดยใช้วิธีการผสมตามธรรมชาติ ทำให้ช้างเพศผู้ที่มีความสามารถในการขึ้นผสมนั้นมีจำนวนน้อยลง และส่วนใหญ่จะถูกใช้งานตลอดปี ไม่มีโอกาสผสมพันธุ์บ่อยครั้งเท่าที่ควร ทำให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง และการจับช้างป่ามาเลี้ยงในสวนสัตว์ต่างๆนั้นทำได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์ช้างป่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับแม่ช้างที่เป็นจ่าโขลงออกมายิ่งจะส่งผลให้ช้างที่เหลือในโขลงมีชีวิตรอดได้ยาก ด้านสัตวแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีแนวคิดในการหาทางขยายพันธุ์ช้างเลี้ยงด้วยวิธีการผสมเทียม โดยการรีดเก็บน้ำเชื้อจากช้างเพศผู้เพื่อนำไปผสมกับช้างเพศเมีย ทั้งนี้ การรีดเก็บน้ำเชื้อยังสามารถคัดเลือกช้างเพศผู้ที่มีลักษณะดีแล้วนำลักษณะพันธุกรรมที่ดีนั้นมาปรับปรุงพันธุ์ช้างให้ดียิ่งขึ้น และเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการเพิ่มปริมาณช้างให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังนั้น การผสมเทียมครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการเพิ่มจำนวนช้างที่มีพันธุกรรมดี และสามารถวางแผนจัดการการผสมพันธุ์เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างไทยต่อไปในอนาคต และคาดว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์ช้างไทยอย่างยั่งยืนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น