สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เสนอควบรวม FPT และแทปไลน์ เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่อ ส่งน้ำมันชี้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) กล่าวในการบรรยายเรื่อง “Pipeline Fuel Transports and Regional Connectivity” ในการประชุมและนิทรรศการนานาชาติพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือเซต้า 2016 ว่า ปัจจุบันโครงการการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปผ่านระบบท่อนั้นดำเนินการโดยเอกชน 2 บริษัท คือบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อจำกัด (เอฟพีที) ที่ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากมายังคลังน้ำมันบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และมีโครงการต่อขึ้นภาคเหนือ ในขณะที่บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ให้บริการขนส่งน้ำมันเส้นทาง ศรีราชา-สระบุรี และจะต่อขึ้นภาคอีสาน ซึ่งการแยกกันให้บริการลูกค้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการเชื่อมโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำมันไปในภูมิภาค และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้เป็นระบบโครงข่ายเดียวกัน ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาให้เกิดการควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวกัน โดยอาจจะมีรัฐเข้ามาร่วมถือหุ้น หรือเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)
ทั้งนี้ การเชื่อมโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำมัน ของ FPT และแทปไลน์เข้าด้วยกันจะทำให้การลงทุนส่วนต่อขยายท่อส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ทุกโรงจะสามารถส่งน้ำมันไปถึงลูกค้าปลายทางในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย มีต้นทุนที่ถูกลง ทั้งภาคเหนือ คือจาก จ.สระบุรี เชื่อมต่อไปถึง จ.พิษณุโลก ลำปาง ในส่วนของภาคเหนือ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากลำลูกกา เชื่อมต่อไปยัง จ.นครราชสีมา ถึงขอนแก่น และในอนาคตสามารถที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันในภูมิภาคได้ในที่สุด
สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเคยศึกษาถึงประสิทธิภาพของการขนส่งน้ำมันพบว่า ในส่วนของการขนส่งน้ำมันไปในภาคเหนือถึง จ.ลำปางนั้น จากเดิมหากใช้รถบรรทุกต้องวิ่งรถไปกลับรวมระยะทางประมาณ 120 ล้านกิโลเมตรต่อปี ในขณะที่การเปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยระบบท่อจะช่วยประหยัดเที่ยวรถเหลือระยะทางประมาณ 50 ล้านกิโลเมตรต่อปี ส่วนในเส้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือหากขนส่งด้วยรถบรรทุกจะต้องวิ่งระยะทางรวม 144 ล้านกิโลเมตรต่อปี แต่ถ้าขนส่งด้วยระบบท่อจะช่วยประหยัดเที่ยวรถเหลือประมาณ 68 ล้านกิโลเมตรต่อปี จึงช่วยประเทศประหยัดทั้งน้ำมัน และต้นทุนการขนส่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้น้ำมันในต่างจังหวัดได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง รวมทั้งมีความปลอดภัยในการขนส่งด้วย
“รัฐไม่ควรมองเฉพาะผลตอบแทนการลงทุนเฉพาะโครงการ แต่ควรมองประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่เมื่อเชื่อมโยงระบบท่อส่งน้ำมันเป็นโครงข่ายเดียวกันแล้ว จะทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคในต่างจังหวัดรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านจะได้รับประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันด้วยระบบท่อ โดยที่เอกชนผู้ให้บริการจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น เมื่อมีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น” นายศิริกล่าว