xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งทำเศรษฐกิจเสียหาย 1.19 แสนล้าน ฉุดจีดีพีหดตัว 0.85%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ” เผยภัยแล้งทำให้เศรษฐกิจเสียหาย 1.19 แสนล้านบาท จีดีพีหด 0.85% หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ทั้งบ้านประชารัฐ จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการ ชอปช่วยชาติจะช่วยดึงจีดีพีให้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยในปี 2559 ว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจากภัยแล้ง คาดว่าจะมีความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 119,278.37 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง 0.85% แบ่งเป็นการเสียหายภาคการเกษตรในกลุ่มข้าว, มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 77,861.63 ล้านบาท และภาคธุรกิจเสียหายในกลุ่มภาคการค้า, บริการ, การเกษตรและการผลิต 41,416.74 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่ โดยมีแผนเยียวยาภัยแล้งผ่านโครงการบ้านประชารัฐ 7 หมื่นล้านบาท, จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย 1.5 หมื่นล้านบาท และมาตรการช็อปช่วยชาติอีก 2-3 หมื่นล้านบาท รวมแล้วประมาณ 6 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นที่มาถูกทางและเพียงพอที่จะเยียวยาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาภัยแล้งได้

“หากภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆ มาช่วยเหลือ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในระดับ 2.7-2.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3-3.5%”

สำหรับรายละเอียดพืชผลทางการเกษตรสำคัญที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง 77,861.63 ล้านบาท ประกอบด้วย ข้าวนาปีฤดูกาลเพาะปลูก 2558/59 ได้รับความเสียหาย 4.08 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 31,406.18 ล้านบาท, ข้าวนาปรังปี 2558/59 ได้รับความเสียหาย 5.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 43,075.55 ล้านบาท, มันสำปะหลังได้รับความเสียหาย 650,253 ตัน มูลค่า 1,215.97 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสียหาย 265,188 ตัน มูลค่า 8,160 ล้านบาท

ส่วนภาคธุรกิจทีได้รับความเสียหาย 41,416.74 ล้านบาท จะมีค่าเฉลี่ยความสูญเสียทางด้านธุรกิจรายละ 1.12 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กเสียหาย เฉลี่ยรายละ 9.4 แสนบาท, ธุรกิจขนาดกลางเสียหายเฉลี่ยรายละ 1.22 ล้านบาท, ธุรกิจขนาดใหญ่เสียหายเฉลี่ยรายละ 1.67 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากยอดขายจำหน่ายที่ลดลง 13.8% รองลงเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้น, กระทบต่อแหล่งวัตถุดิบ, ปัญหาสต๊อกสินค้า และการจ้างงานลดลง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น