xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งทุบจีดีพีร่วง เกษตรกรรายได้หด50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - ม.หอการค้าไทยประเมินภัยแล้งกระทบเศรษฐกิจไทยหนัก ชี้เสียหายเกือบ 1.2 แสนล้าน ภาคเกษตรทรุด 7.78 หมื่นล้าน ภาคธุรกิจเจ๊ง 4.14 หมื่นล้าน เตือนรัฐแก้ไม่ถูกจุดฉุดจีดีพีร่วงเกือบ 7% ด้านสมาคมพืชสวนฯโอดเกษตรกร 4 ล้านครัวเรือนรายได้วูบ40- 50% เหตุผลผลิตต่อ-ราคาตกต่ำ นายกฯเผยถกร่วมแม่โขง-ล้านช้าง เคาะตั้งศูนย์ติดตามบริหารน้ำโขงร่วมกัน

วานนี้ (24 มี.ค.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากภัยแล้งในปี 59 ว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯประเมินผลกระทบจากภัยแล้งในปี 59 มีความเสียหายมูลค่าราว 1.19 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง0.85% แบ่งเป็นการเสียหายภาคการเกษตรในกลุ่มข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7.78 หมื่นล้านบาท และภาคธุรกิจเสียหายในกลุ่มภาคการค้า บริการ การเกษตรและการผลิต4.14 หมื่นล้านบาท

“หากภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆมาช่วยเหลือหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในระดับ2.7-2.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3-3.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว

** โอด 4 ล้านครัวเรือนรายได้หด 50%

ด้าน นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก 4 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งในแง่ปริมาณและราคาที่ตกต่ำ โดยราคาพืชผลเหล่านี้ลดลงเฉลี่ย 25-30% ซึ่งทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้ประมาณ 4 ล้านครอบครัวมีรายได้ลดลง40-50% จากปีก่อน และจะส่งกระทบต่อแรงซื้อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม ทั้งแหล่งน้ำที่อยู่โดยเฉพาะภาคอีสานเท่าที่ประเมินจะประคองไปได้ถึงเดือน เม.ย. แต่หาก เม.ย.ฝนไม่ตกเลย จะลำบากหนักมาก

“ผมทำงานและอยู่ในแวดวงการเกษตรตั้งแต่ปี 2520 ยังไม่เคยเห็นปีไหนเกษตรกรจะลำบากเท่าปีนี้ เพราะน้ำแล้งสุดรอบ 40 ปี ไม่เพียงแต่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรตกต่ำแล้ว ราคาของพืชเกษตรทั้งภายในและส่งออกก็ยังคงตกต่ำ ขณะที่เกษตรกรกลุ่มนี้มีพื้นที่ปลูกรวมกัน 100 ล้านไร่มีเกษตรกร 4 ล้านครัวเรือนคิดเป็น 80% ของเกษตรกรทั้งประเทศ” นายอนันต์ ระบุ

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพืชผักและผลไม้ยังคงมีราคาในระดับสูง โดยเฉพาะผลไม้ที่ทยอยออกผลผลิตมาจำหน่ายในขณะนี้ อาทิ มะยงชิด ที่ราคาจากสวนเฉลี่ย 120-200 บาทต่อกิโลกรัม ช่วง เม.ย.-พ.ค.นี้ ก็จะมีทุเรียนและมังคุดราคายังคงไม่ต่ำไปจากปีก่อน หากเกษตรกรยังคงรักษาผลผลิตไว้ได้ เช่นเดียวกับมะม่วง โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้ ที่ราคาจากสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เป็นต้น

** เตรียมตั้งศูนย์คุมปล่อยน้ำโขง

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ในที่ประชุมได้มีการตกลงกันว่าจะตั้งศูนย์ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำที่ประเทศจีน ถึงท้ายน้ำที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งวันนี้จีนได้ปล่อยน้ำมามากพอสมควร หากมีการตั้งศูนย์ฯเรียบร้อยจะมีการพิจารณาร่วมกันถึงช่วงเวลาและปริมาณของการปล่อยน้ำ รวมทั้งมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้วย เนื่องจากหลายครั้งที่ผ่านมาไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ท่วมพืชผลการเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น