xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กโกเบนเข็มนำเข้า LNG แข่ง ปตท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอ็กโก กรุ๊ป” เบนเข็มรุกธุรกิจต้นน้ำ เล็งจับมือ กฟผ.นำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้า หากรัฐมีนโยบายชัดเจน เผยมีที่ดินและท่าเทียบเรือพร้อมในจังหวัดระยอง ตั้งเป้าปีนี้มีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีฯ โตขึ้น 5% จากปีก่อน เหตุรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ สนใจลงทุนธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจไฟฟ้าจากปัจจุบันที่มีการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย โดยมองโอกาสการลงทุนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ รวมทั้งโรงไฟฟ้าในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย โดยจะร่วมลงทุนกับ กฟผ. แต่ทั้งนี้คงต้องรอนโยบายความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซฯ และสถานี LNG (Thrid Party Access) และการจำกัดการสร้างแอลเอ็นจี เทอร์มินัลของ ปตท. จากปัจจุบันที่ ปตท.เป็นผู้ลงทุนและนำเข้า LNG เพียงรายเดียว

ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ปมีความพร้อมที่จำนำเข้า LNG โดยมีพื้นที่ที่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีจี จ.ระยอง ซึ่งมีท่าเทียบเรือพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจ LNG ได้ รวมทั้งยังมีที่ดินเดิมของโรงไฟฟ้าระยองที่ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้ว อีก 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวดำเนินธุรกิจใดเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ นิคมฯ หรือธุรกิจ LNG โดยดำเนินการในรูปแบบเรือคลังก๊าซลอยน้ำ (FSRU) ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนสร้างสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) แบบ ปตท. แต่จะอาศัยท่อส่งก๊าซฯของปตท.ในการจ่ายก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ

ส่วนธุรกิจเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย บริษัทฯ ไม่มีแผนที่จะขายทิ้งธุรกิจดังกล่าว แม้ว่าราคาถ่านหินค่อนข้างต่ำก็ตาม แต่ที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ยังสร้างกำไรให้กับเอ็กโก กรุ๊ปอยู่ ปัจจุบันธุรกิจนี้มีการผลิตถ่านหินปีละ 1 กว่าตัน โดยถ่านหินที่ผลิตได้จำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียเป็นหลัก แต่ทั้งนี้บริษัทได้มีการหารือกับ กฟผ.เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ของ กฟผ.ทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา เป็นต้น

นายชนินทร์กล่าวถึงแผนการดำเนินงานใน 2559 ว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาทั้งโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 กำลังการผลิต 930 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเร็วกว่ากำหนดเดิม 19 มิ.ย. 59 ประมาณ 10 วัน และโรงไฟฟ้าพลังลม “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” กำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ปลายปีนี้ รวมทั้งรับรู้รายได้เพิ่มจากการถือหุ้น 100% ในโรงไฟฟ้าเคซอน ขนาด 460 เมกะวัตต์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้มั่นใจว่าปีนี้บริษัทฯมีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การรับรู้รายได้ตามสัญญาเช่าและสัญญาสัมปทาน และการด้อยค่าโตขึ้น 5% จากปีก่อนที่มีกำไรฯ 7,920 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาทสำหรับ 8 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศมี 5 โครงการจะใช้เงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 3 โครงการ ใช้เงินลงทุน 7 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมโดยใน และต่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 ขนาด 650 เมกะวัตต์ที่ สปป.ลาว เตรียมลงนามสัญญาซื้อขายไฟเร็วๆ นี้, โครงการพลังน้ำ-ปากเบง สปป.ลาว ขนาด 1พันเมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)

โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซแอลเอ็นจีที่ทวาย ขนาด 400 เมกะวัตต์ประเทศเมียนมาอยู่ระหว่างเตรียมการ, โครงการโรงไฟฟ้ากวางจิ ประเทศเวียดนาม ขนาด 1,220 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานใต้พิภพ ระยะ 3 ขนาด 60 เมกะวัตต์ ที่อินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น