xs
xsm
sm
md
lg

ครม.จี้ “คมนาคม” เร่งงานร่วมทุน PPP เดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายไม่คืบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เร่ง “คมนาคม” สรุปงานลงทุน PPP เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “อาคม” แจง รฟม.เสนอให้สัมปทานลงทุน PPP Net Cost แต่กลับต้องอุดหนุนเอกชนด้วยไม่ได้ ให้ทำข้อมูลใหม่ คาดสรุปสัปดาห์นี้เพื่อเสนอ สคร. และ กก. PPP ได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ได้เร่งรัดงานของกระทรวงคมนาคมในส่วนที่เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้งบก, น้ำ, อากาศ, ราง โดยได้เร่งรัดงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งก่อนหน้านี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เสนอรูปแบบการลงทุน PPP Net Cost (รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนรับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าโดยสารโดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) แต่มีประเด็นที่ต้องให้ภาครัฐอุดหนุนด้วย ซึ่งกระทรวงเห็นว่าไม่เหมาะสมกับรูปแบบ PPP Net Cost เพราะเอกชนต้องรับความเสี่ยงเอง ต่างจากรูปแบบ PPP Gross Cost (รัฐลงทุน 100% และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยจ้างเอกชนทำหน้าที่เดินรถ) ที่รัฐรับความเสี่ยง

จึงให้ รฟม.ปรับปรุงรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมพร้อมกับอธิบายเรื่องเอกชนทำการตลาดได้ดีกว่ารัฐทำเอง ซึ่งล่าสุดได้ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงค่อนข้างชัดเจนแล้วและคาดว่าจะพิจารณาให้เรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ โดยตามขั้นตอนจะต้องส่งเรื่องกลับไปที่ รฟม. เพื่อให้เสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่คณะกรรมการ PPP ต่อไป

“การเปิดเดินรถในส่วนต่อขยายสีน้ำเงินนั้นยังเป็นเป้าหมายปี 2562 พยายามไม่ให้ช้ากว่านี้ ซึ่งเห็นว่าหากได้ข้อสรุปเรื่องการคัดเลือกผู้เดินรถแล้วเห็นว่า ในส่วนการผลิตรถนั้นสามารถปรับเร่งไลน์การผลิตได้ เหมือนสายสีม่วงที่สามารถเร่งการผลิตได้” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ โครงการที่ต้องดำเนินการ PPP ของกระทรวงคมนาคมยังมี ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 31.159 กม. ในส่วนของการจัดเก็บค่าผ่านทางและงานซ่อมบำรุงซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาก่อสร้างงานทาง ที่ใช้งบประมาณลงทุนวงเงิน 14,200 ล้านบาท โดยทำสัญญาแล้ว 7 ตอนจากทั้งหมด 13 ตอน, โครงการที่เป็น PPP 100% คือ เอกชนลงทุนก่อสร้าง เดินรถ ซ่อมบำรุง โดยรัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,690.99 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปยังคณะกรรมการ PPP เพื่อเข้า PPP Fast track แล้วตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ส่วนรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. และกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP
กำลังโหลดความคิดเห็น