รฟม.ชงแผนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เสนอใช้รูปแบบ PPP Net Cost หรือสัมปทานเหมือนสายเฉลิมรัชมงคลเพื่อสอดคล้องกับแนวคิดเดินรถต่อเนื่อง ด้าน สนข.ไร้ประเด็นติดใจเร่งเสนอ “อาคม” พิจารณา ก่อนส่ง สคร.เข้า PPP Fast Track เดินหน้าเลือกวิธีคัดเลือกเอกชน ประมูลใหม่ หรือเจรจา BEM ต้องให้ทันเปิดเดินรถปี 62
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้างานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระว่า ขณะนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งรายงานการวิเคราะห์โครงการฉบับปรับปรุง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มายัง สนข.แล้ว ซึ่ง สนข.ได้ตรวจสอบประเด็นที่ได้มีการสอบถามเพิ่มเติม โดยเห็นว่ามีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแล้ว จึงได้สรุปความเห็นทั้งหมดเสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบรายงานดังกล่าวแล้วจะส่งเรื่องกลับไปที่ รฟม.เพื่อให้เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ตามการศึกษาเพิ่มเติมของ รฟม.ได้มีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของรูปแบบการลงทุน PPP Net Cost (รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนรับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าโดยสารโดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) และ PPP Gross Cost (รัฐลงทุน 100% และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยจ้างเอกชนทำหน้าที่เดินรถ) โดย รฟม.เสนอใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการเดินรถต่อเนื่องกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost ส่วนจะใช้รูปแบบใดจะต้องรอ สคร. และคณะกรรมการ PPP พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2553 ที่ให้ดำเนินงานระบบและเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2535 โดยให้ รฟม.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งงานเดินรถจะดำเนินการตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ดังนั้นเชื่อว่าหากคณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ในเรื่องการคัดเลือกเอกชน ระหว่างการเจรจาตรงกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับงานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล หรือให้เปิดประมูลคัดเลือก ซึ่งการเจรจากับรายเดิมนั้น นอกจากจะทำให้การเดินรถเชื่อมต่อเป็นวงกลมเพื่อความสะดวกของผู้โดยสารแล้ว จะทำให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้และเปิดเดินรถได้ทันตามแผนปี 2562
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาของโครงการมีความคืบหน้าประมาณ 68.41% เร็วกว่าแผน 0.79% โดยมีกำหนดเปิดเดินรถในเดือน เม.ย. 2562