xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบงบ 2.67 หมื่นล้าน ยืดใช้คืนหนี้สายสีน้ำเงินอีก 7 ปี เหตุผู้โดยสารต่ำเป้า รฟม.คาดมีกำไรปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลให้ รฟม.ออกไปอีก 7 ปี วงเงิน 26,700 ล้านบาท หลังจำนวนผู้โดยสารไม่เข้าเป้า เหตุโครงข่ายรถไฟฟ้ายังไม่เชื่อมต่อ ทำให้ รฟม.ยังขาดทุน โดยคาดปี 2567 จะเริ่มมีกำไร 230 ล้านบาท พร้อมจ่ายหนี้คืนเอง พร้อมเห็นชอบปรับวิธีคำนวณค่าเค งานก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ยึดเกณฑ์การประมูลนานาชาติ ช่วยรัฐประหยัดถึง 198 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ม.ค. มีมติเห็นชอบตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ ในการขอขยายเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้ ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษา โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2553 ออกไปอีก 7 ปี (2560-2567) คิดเป็นวงเงิน 26,700 ล้านบาท (แบ่งเป็นเงินต้น 17,464 ล้านบาท ดอกเบี้ย 9,236 ล้านบาท โดยทางสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณรายปี เนื่องจากการประมาณการรายได้ของ รฟม.ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้ามหานครที่เปิดให้บริการในปี 2547 ต่ำกว่าประมาณการโครงการ โดย รฟม.ประเมินว่า หากโครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑลเชื่อมต่อกันมากขึ้นในอนาคตทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานครมีมูลหนี้รวม 162,715 ล้านบาท (2537-2583) โดยการชำระหนี้ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2558 มีมูลหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง ค่าที่ปรึกษาโครงการที่ยังคงเหลือ 46,185 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อย่างไรก็ตาม รฟม.ประมาณการว่าในปี 2567 จะมีรายได้ประมาณ 5,047 ล้านบาท มีรายจ่ายรวมค่าดอกเบี้ย ค่าใช้คืนเงินกู้ 4,817 ล้านบาท มีกำไร 230 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่ รฟม.เสนอขออนุมัติปรับหลักเกณฑ์การคำนวณค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเดิมโครงการนี้ใช้แหล่งเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ขั้นตอนการประกวดราคาและการทำสัญญาต่างๆ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) และตามเงื่อนไขของแหล่งเงินกู้ ต่อมามีมติ ครม.ปี 2552 เปลี่ยนแปลงแหล่งเงินกู้โครงการจากไจก้าเป็นแหล่งเงินภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการปรับมาใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเคตามกรมบัญชีกลาง

โดย รฟม.ได้เสนอขอยกเว้นมติ ครม.ปี 2552 ในเรื่องเกณฑ์การคำนวณค่าเค โดยขอใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตามเงื่อนไขการประมูลนานาชาติเหมือนเดิม ซึ่งจะใช้ค่าเค ก่อนการยื่นซองประมูล 28 วัน โดยสามารถทำให้ประหยัดค่าเคที่จะจ่ายให้ผู้รับเหมาลง 198 ล้านบาท โดยครอบคลุมสัญญาที่ 1-5 (งานก่อสร้าง และงานออกแบบและก่อสร้างระบบราง)
กำลังโหลดความคิดเห็น