ครม.ไฟเขียวแผนแก้ปัญหากรมการบิน กพท.เดินหน้าปลดธงแดง ICAO ตั้งเป้าตรวจ 28 สายการบินระหว่างประเทศเสร็จปลายปีนี้เพื่อแจ้งความพร้อม ICAO ตรวจซ้ำ เผยหากยังไม่ผ่านต้องรออีก 5 ปี ICAO จึงจะมาตรวจซ้ำได้ ส่วนปัญหานกแอร์ เร่งตรวจรายงานเหตุการณ์ยกเลิก 20 เที่ยวบิน 14 ก.พ. “อาคม” ยันหากผลตรวจนักบินทำงานเกินกำหนดโดนโทษหนัก ขณะที่ กพท.จับตา 4 สายการบินขาดสภาพคล่องเป็นพิเศษยังไม่ยกเลิกใบอนุญาต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบแผนแก้ปัญหาด้านการบิน ตามที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศปบพ.) พร้อมกับรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ยกเลิกเที่ยวบิน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบคำชี้แจงของนกแอร์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา กพท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 15 คนเข้าไปร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบการทำงานของนกแอร์ในประเด็น ชั่วโมงบินของนักบิน, จำนวนนักบิน, จำนวนเที่ยวบิน, จำนวนเครื่องบิน และการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับและเงื่อนไขในอนุญาต ซึ่งอยู่ระหว่างประมวลก่อนจะรายงานมายังกระทรวงคมนาคม
ส่วน 14 สายการบินที่ให้บริการภายในประเทศนั้น กระทรวงคมนาคมได้เรียกประชุมโดยสั่งให้จัดแผนงาน ประกอบด้วย 1. แผนฉุกเฉินเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ 2. แผนบริหารความเสี่ยงขององค์กร ทั้งแผนด้านการเงิน ด้านบุคลากร, แผนจัดการความเสี่ยงระบบไอที พร้อมกันนี้ได้สั่งให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ทำแผนการผลิตบุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน, ช่างซ่อม และลูกเรือ ด้วย
นายอาคมกล่าวว่า กรณีการตรวจสอบนกแอร์เรื่องชั่วโมงบินของนักบินนั้น หากพบว่า นักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด จะต้องถูกลงโทษซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า แผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. การจัดตั้ง กพท. ซึ่งได้เสนอรายละเอียดโครงสร้าง กพท. อัตรากำลังแผนการบรรจุบุคลากรเพิ่ม และการสรรหาผู้อำนวยการ กพท. ซึ่งภายในเดือน พ.ค.นี้จะสรรหา ผอ.กพท.ได้ และบรรจุบุคลกรได้ครบ 2. แผนการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยสายการบิน เพื่อทำหน้าที่ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) โดยจะมีผู้ตรวจสอบทั้งฝ่ายการบิน 17 คน และฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน 52 คน 3. แผนการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากองค์การการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักร (CAAI) จำนวน 14 ราย ซึ่งจะเป็นรายละเอียดTOR การจ้าง 4. แผนแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (EASA) ด้านการพัฒนาศักยภาพการกำกับดูแล ซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ และความร่วมมือด้านวิชาการกับกรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น (JCAB) ที่จะให้ความช่วยเหลือเรื่องระบบการกำกับดูแลตรวจสอบศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าในเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ การตรวจสอบสายการบินทั้ง 41 สายจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกคือสายการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศรวม 28 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 จำนวน 7 สายการบิน คือสายการบินที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม กลุ่มที่ 2 จำนวน 13 สายการบิน โดยส่วนใหญ่เป็นสายการบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด กลุ่มที่ 3 จะมีจำนวน 8 สายการบินที่มีขนาดฝูงบินรองลงมา โดยตามแผนหากการตรวจสอบทั้ง 28 สายแล้วเสร็จ กพท.จะเข้าสู่ขั้นตอนการ รายงานไปยัง ICAO เพื่อให้เข้ามาตรวจซ้ำ เพื่อแก้ SSC และปลดธงแดง โดยประเมินว่าจะตรวจ 28 สายการบินเสร็จประมาณปลายปี 2559 นี้ จากนั้นจะเริ่มตรวจ 13 สายการบินภายในประเทศที่เหลือ
“ช่วงปลายปีนี้คาดว่าจะตรวจและออก AOC ให้ 28 สายการบินได้ จากนั้น กพท.จะประเมินว่ามีความพร้อมแล้วหรือยังในการแจ้ง ICAO เข้ามาตรวจซ้ำ เรื่อง SSC 33 ข้อ แก้ไขก้าวหน้าเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าไม่มั่นใจอาจจะขยับไปเป็นต้นปี 60 ได้ เนื่องจากการตรวจซ้ำครั้งนี้หากไม่ผ่านจะต้องรออีก 5 ปี จึงจะให้ ICAO มาตรวจซ้ำได้”
ส่วนกรณีนกแอร์นั้น นายจุฬากล่าวว่า ล่าสุดยังไม่มีการแจ้งยกเลิกเที่ยวบินเข้ามา ซึ่ง แจ้งมาสุดท้ายคือการยกเลิก 20 เที่ยวบินในวันที่ 23 ก.พ. ในการแจ้งยกเลิกเที่ยวบิน นกแอร์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ซึ่งสายการบินจะไม่ต้องจ่ายชดเชยให้ผู้โดยสาร 1,200 บาทต่อคน กพท.ไม่มีหน้าที่ไปถามทุกสายการบินว่าวันนี้จะยกเลิกกี่เที่ยวบิน แต่ กพท.จะติดตามการให้บริการและการคุ้มครอง ชดเชยผู้โดยสารตามระเบียบ
นายจุฬากล่าวว่า กำหนดให้สายการบินต่างๆ รายงานงบการเงินในรอบปี 2558 (ม.ค.-ธ.ค. 58) ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559 ส่วนที่มี 4 สายการบินที่ถูกตรวจสอบสถานะทางการเงินแล้วมีปัญหาสภาพคล่อง เป็นการตรวจในภาพรวม ซึ่งเมื่อพบว่าสายการบินใดมีปัญหาต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตใดๆ เป็นการเฝ้าระวัง และหากพบว่าสถานะการเงินไม่เหมาะสมที่จะประกอบธุรกิจต่อไป กพท.สามารถเพิกถอนได้ ส่วนการระงับบิน ไม่กระทบใบอนุญาตการบิน
ซึ่งกรณีสายการบินซิตี้แอร์เวย์ ที่ถูกให้พักบิน หากสายการบินสามารถชี้แจงแก้ปัญหาได้จะสามารถกลับไปทำการบินได้อีก ซึ่งปัญหาของซิตี้แอร์เวย์เนื่องจากมีการพูดคุยกันแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ได้ขอเพิ่มเที่ยวบิน และเพิ่มจำนวนเครื่องบิน ซึ่ง กพท.ขอให้บริษัทไปแก้ปัญหาเรื่องสถานะทางการเงินให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นการขยายตัวมากไปแต่ยังมีปัญหาสถานะการเงิน ซึ่งบริษัทไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ที่สุดจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ก.พ.
“การบินแบบเช่าเหมาลำไปต่างประเทศนั้นจะต้องขอ Flight Permit จาก กพท. แต่ได้ตกลงกันว่าหลังบริหารจัดการผู้โดยสารวันที่ 18 ก.พ.แล้วจะไม่ออก Flight Permit ให้จนกว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินกันก่อน เป็นการเตือนจึงไม่ออก Flight Permit ให้ เพราะเรื่องสถานการณ์การเงินสำคัญต่อการบริหารสายการบิน”