“นกแอร์” ยังสอบนักบินไม่จบ “พาที” เผยต้องขอบินเช่าเหมาลำประมาณ 10 ไฟลต์ต่อวันไปจนถึง 22 ก.พ. เผยสรุปแล้ว 2 คนไม่มีความผิด ที่เหลือจะสรุปใน 2 วัน มั่นใจเคลียร์ปัญหาภายในจบ ไม่เกิดเหตุซ้ำสอง ยันไม่มีปัญหารุนแรงกับ “ศานิต” แย้มเตรียมจับมือสายการบินยุโรปเป็นพันธมิตร ตอกย้ำศักยภาพมาตรฐานนกแอร์ระดับสากล ส่วนผู้โดยสารเยียวยาไปแล้ว 40%
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) แถลงวันนี้ (17 ก.พ.) ว่า นกแอร์มีความจำเป็นที่ยังต้องทำการบินแบบเช่าเหมาลำไปจนถึงวันจันทร์ที่ 22 ก.พ. ประมาณ 10 เที่ยวบินต่อวัน เนื่องจากการสอบสวนนักบิน 7 คนจากเหตุการณ์หยุดงานประท้วงเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมายังไม่แล้วเสร็จ จากเดิมที่จะบินเช่าเหมาลำช่วงวันที่ 15-17 ก.พ.เท่านั้น โดยขณะนี้สอบสวนเสร็จแล้ว 2 คนโดยสรุปว่าไม่มีความผิด คือ นายสัญญา ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการแผนกทดสอบและพัฒนาการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และนายวิรุณ มหิทธิกุล ผู้อำนวยการแผนกเอกสารการบินและรัฐสัมพันธ์/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ส่วนอีก 5 คนที่เหลือจะเร่งสรุปผลสอบสวนภายใน 2 วัน ยืนยันว่านักบินที่มีปัญหาเป็นเฉพาะกลุ่มเดียว สามารถแก้ปัญหาได้
ส่วนกรณีที่นายศานิต คงเพชร อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินควบคุมอากาศยาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามีปัญหากันนั้น ส่วนตัวเห็นว่านายศานิตอาจจะรู้สึกแย่ที่ถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง ส่วนตัวยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไรไม่ได้ทะเลาะกัน ในชีวิตเจอกัน 2 ครั้ง การที่ต้องเลิกจ้างเพราะได้ทำความผิดที่ร้ายแรงและมีผลกระทบ
โดยก่อนหน้านี้ คุณศานิตระบุว่านกแอร์มีการใช้นักบินที่ไม่ได้มาตรฐานทำการบิน นายพาทีระบุว่า ครูการบินมาจากการบินไทย ทำการบินมากว่า 20 ปี ยืนยันว่ามาตรฐานของนักบินขึ้นอยู่กับกรมการบินพลเรือน สายการบินหรือผู้บริหารไม่สามารถบังคับนักบินขึ้นบินทั้งๆ ที่นักบินไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ มั่นใจว่าหลังจากนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก ยืนยันการบริหารงานของนกแอร์ให้ความสำคัญเรื่องบุคลากร ปัญหาความขัดแย้งภายในมีได้ในทุกองค์กร แต่จะต้องแก้ไขได้เช่นกัน
“ขอเน้นย้ำว่านักบินของนกแอร์มีมาตรฐาน แผนเพิ่มจำนวนนักบิน จะมีการคัดเลือกตามมาตรฐาน แม้จะมีผู้สมัครจำนวนมาก แต่การจะผ่านเกณฑ์นั้นไม่ง่าย กรณีที่ก่อนหน้านี้อาจจะมีนักบินถูกดึงออกไปอยู่สายการบินอื่นเพราะรายได้สูงกว่านั้น ถ้าเป็นเรื่องตัวเลขไม่อยากพูดถึง แต่เราได้ปรับแล้ว และรายได้ของเราไม่น้อยกว่าคู่แข่งแน่นอน” นายพาทีกล่าว
เผยพันธมิตรยุโรปเตรียมทำการบินร่วม ตอกย้ำมีมาตรฐาน
นายพาทีกล่าวว่า ปัจจุบันฝูงบินนกแอร์มี 23 ลำ ซึ่งในปีนี้จะรับเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ คือ เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบบอมบาร์ดิเอร์ Q400 จำนวน 2ลำ เราไม่สามารถสั่งซื้อเครื่องบินเดือนละ 200 ลำได้ เพราะต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายและการใช้ประโยชน์เครื่องบินได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น ขณะนี้นกแอร์อยู่ระหว่างเจรจากับสายการบินยุโรปที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อทำการบินร่วมกัน ในช่วง High Season ที่มีผู้โดยสารมาก และ Low Season ที่มีผู้โดยสารน้อย คือ ช่วง Low Season ที่นั่งจะเหลือ พันธมิตรจะช่วยเสริมเช่น ใช้เครื่องบินของเรา สามารถใช้ประโยชน์เครื่องบินได้เต็มที่ ส่วนช่วง High Season จะมีที่นั่งเพิ่มจากพันธมิตร เป็นการเพิ่มรายได้ให้นกแอร์ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นสายการบินใด
เนื่องจากการยกระดับมาตรฐานระบบปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของ IOSA (IATA Operation Safety Audit) และจะมีการตรวจสอบ (Audit) ซึ่งนกแอร์ปรับเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบิน ตามมาตรฐานของหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) จะเลื่อนจากเดิมที่กำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนน ก.ค.นี้ ไปเป็นต้นปี 2560 ดังนั้น การความร่วมมือดังกล่าว ทางสายการบินยุโรป จะเข้ามาที่เราได้ก่อนตั้งแต่ ก.ค.นี้ ส่วนนกแอร์ทจะบินไปได้คงเป็นต้นปี 2560
สำหรับการชดเชยเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3,000 คนจาก 17 เที่ยวบินนั้น นกแอร์ทำตามมาตรฐานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งได้เยียวยาไปแล้วประมาณ 40% ผู้โดยสารสามารถติดต่อนกแอร์ได้ทุกช่องทาง การเยียวยาไม่ใช่เรื่องใหม่ของนกแอร์ เพราะที่ผ่านมาเราผ่านเหตุวิกฤติหลายครั้ง และได้มีการเยียวยาเกินมาตรฐานทุกครั้ง สายการบินนกแอร์มีมาตรฐานและก่อนจะเกิดสายการบินนกสกู๊ตในวันนี้ บริษัทยุโรปได้เข้ามา Audit นกแอร์ก่อน
ขอบคุณ รมต.คมนาคม-การบินไทย ให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม นายพาทีได้กล่าวขอบคุณนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้มีการประสานทางโทรศัพท์ในระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสิงคโปร์, นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เดินทางไปดูแลผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมืองก่อนที่ตนเองจะไปถึงอีก และที่สำคัญ คือ สายการบินไทย, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ที่ทำการบินช่วยเหลือ และขอยืนยันว่านกแอร์มีความตั้งใจและอยากให้ต่างชาติเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพ ซึ่งมีหลายสายการบินอยากเป็นพันธมิตรด้วยซึ่งเป็นผลมาจากความตั้งใจทำเพื่อชื่อเสียงขององค์กร ผู้ถือหุ้น และประเทศ