xs
xsm
sm
md
lg

"นกแอร์"เส้นใหญ่ พบวิกฤต4สายระงับบิน1 สายการบินเล็กโวย2มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน360-กพท.ลุยตรวจฐานะการบิน เจอ 4 สายวิกฤติ ประเดิมเซ็นคำสั่ง หยุดบิน“ซิตี้ แอร์เวย์”ชั่วคราว ด้านเอกชนโอด ภาครัฐสองมาตรฐานถูกสั่งระงับการบินกะทันหันทำผู้โดยสารตกค้างทั้งดอนเมือง และฮ่องกง ไร้ผู้ใหญ่เหลียวแลเหมือนสายการบินตระกูลดัง ยันพร้อมทำธุรกิจแต่หน่วยงานรัฐไม่พร้อม เหตุติดธงแดง ICAO ทำให้งานชะงัก ด้านครม.เห็นชอบแผนแก้ธงแดง ICAO กพท.ตั้งเป้าตรวจ28 แอร์ไลน์เสร็จปลาย59 เดินหน้าปลดธงแดงได้

จากที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้สายการบินซิตี้ แอร์เวย์ หยุดทำการบินชั่วคราว หลังตรวจสอบสถานะทางการเงินพบว่ามีความเสี่ยง และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยกเลิกเที่ยวบินจนทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินเหมือนที่ผ่านมานั้น

มีข้อมูลจากผู้ประกอบการ สายการบินซิตี้ แอร์เวย์ ระบุว่า ซิตี้แอร์เวย์ ต้องยกเลิกเที่ยวบิน อย่างกะทันหันก่อนแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกิดเหตุของสายการบินนกแอร์ แต่สาเหตุที่ ซิตี้แอร์เวย์ ต้องยกเลิกเพราะ กพท.ระงับการออก Operating Permit วันที่13ก.พ.เป็นต้นมา ทั้งที่ฮ่องกงได้อนุมัติการบินมาแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าสั่งยกเลิกแบบไม่คำนึงถึงผู้โดยสาร ที่ต้องตกค้าง ผู้โดยสารจำนวนมากต้องต่อไฟลท์เข้าเมืองต่างๆ ในจีนได้รับความเดือดร้อน

โดยกพท. แจ้งระงับการบินในวันศุกร์ที่12 ก.พ. เวลา16.30 น. สายการบินมีเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังเวลาหยุดทำการและติดเสาร์อาทิตย์ และเป็นวันหยุดยาวของสถานทูตจีน ผู้โดยสารไม่สามารถติดต่อใครช่วยเหลือได้ รออย่างไม่มีจุดหมายกว่าพันคนต่อวัน ทั้งที่เซ็นคำสั่งตั้งแต่ 11 ก.พ. ในขณะที่ความแตกต่างของนกแอร์กับซิตี้แอร์เวย์คือ

เจ้าของซิตี้แอร์เวย์ไม่ใช่ตระกูลดัง ไม่หมือนนกแอร์ที่มีนามสกุลสารสินบริหาร ซิตีแอร์เวย์ไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยเหลือ ไม่มีใครรับฟัง ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาช่วยพูดกับผู้โดยสาร ส่วนการดูแลผู้โดยสารของสายการบินไม่มีเส้นสายนั้น ได้จัดอาหารให้ผู้โดยสารระหว่างรอ , รับผู้โดยสารทั้งหมดเข้าโรงแรม 4 ดาว , จัดอาหารโรงแรมและรถรับส่งของโรงแรม และแม้กพท.จะอนุมัติให้บินได้ถึงวันที่19 ก.พ. ซึ่งล่าช้าไป18 ชม. เกิดความเสียหายกับสายการบินไปแล้ว

ผู้บริหารซิตี้ แอร์เวย์ ให้ข้อมูลว่า ได้เข้าเทกโอเวอร์ สายการบิน ซิตี้ แอร์เวย์ ซึ่งเคยมีปัญหาหนี้สิน ประมาณ 280 ล้านบาท ซึ่งหลังจากบริหารงานหนี้สินลดลงเหลือ 60 ล้านบาท เป็นสิ่งยืนยันว่ากิจการไปได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ กรมการบินพลเรือน (บพ.) ถูก ธงแดง ICAO มีการปรับโครงสร้างทำให้การทำงานติดขัด

โดย ซิตี้ แอร์เวย์ มีเส้นทางบินเช่าเหมาลำ ไปฮ่องกง 16 เที่ยวบิน ได้เช่าเครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 จำนวน 2 ลำ เข้ามา แต่เมื่อบพ.ถูกธงแดงทำให้การอนุมัติเอกสารทำไม่ได้ ทำให้ต้องคืนไป 1 ลำ ส่วนอีก 1 ลำ อยู่ระหว่าง กพท.ตรวจสอบใช้เวลา 4 เดือนแล้ว ขณะที่มีค่าเช่าบวกค่าซ่อมบำรุง เดือนละ 3.5 แสนเหรียญ แต่เครื่องบินไม่ได้ใช้งาน บริษัทไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ สะท้อนได้ว่า หนี้สินของสายการบินส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่ล่าช้าของหน่วยงาน การถูกธงแดง ICAO เพราะหน่วยงานไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่ใช่สายการบินไม่ได้มาตรฐาน แต่ปัญหาของหน่วยงานรัฐกระทบมาถึงการทำธุรกิจของสายการบิน

ส่วนคำกล่าวอ้างว่านักบินชั่วโมงเกินไม่เป็นความจริง หนี้สินมีกันทุกที่ ต้องดูการบริหารจัดการ การที่สายการบินถูกระงับการบิน อาจจะต้องปิดกิจการ มีคนตกงาน กระทบชื่อเสียงประเทศชาติเราด้านการท่องเที่ยว เครดิต กับICAO สายการบินของไทยไม่ได้มาตรฐานหรือเพราะเรามีสองมาตรฐานกันแน่

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. วันที่ 23 ก.พ. มีมติเห็นชอบแผนแก้ปัญหาด้านการ
บิน ตามที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศปบพ.) เสนอ พร้อมกับรับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ยกเลิกเที่ยวบิน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า แผนแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. การจัดตั้ง กพท. ในส่วนของโครงสร้างกพท.,อัตรากำลัง,แผนการบรรจุบุคลากรเพิ่ม และการสรรหาผู้อำนวยการ กพท. ซึ่งเดือนพ.ค. นี้จะเรียบร้อย 2. แผนการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยสายการบิน

เพื่อทำหน้าที่ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) โดยจะมีผู้ตรวจสอบทั้งฝ่ายการบิน 17 คน และฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน 52 คน 3. แผนการจ้างผู้เชี่ยวชาญจาก CAAI 4. แผนแก้ปัญหาระยะยาวเป็นความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (EASA)ด้านการพัฒนาศักยภาพการกำกับดูแล เริ่มในเดือนพ.ค.นี้ และความร่วมมือด้านวิชาการกับกรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น (JCAB) เรื่องระบบการกำกับดูแลตรวจสอบศูนย์ซ่อมอากาศยาน เริ่มเดือนพ.ค.

ส่วนการตรวจสอบ 41 สายการบิน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกเป็น 28 สายการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ คือ 1. จำนวน 7 สายการบิน ที่มีฝูงบินขนาดใหญ่และมีความพร้อม 2. จำนวน 13 สายการบิน ส่วนใหญ่เป็นสายการบินแบบเช่าเหมาลำ 3. จำนวน 8 สายการบิน ตามแผนหากการตรวจสอบทั้ง 28 สายแล้วเสร็จ ประมาณปลายปี 2559 ซึ่ง กพท.จะเข้าสู่ขั้นตอนการรายงานไปยัง ICAO เพื่อให้เข้ามาตรวจซ้ำ เพื่อแก้ SSC และปลดธงแดง หากการตรวจซ้ำครั้งนี้ หากไม่ผ่าน จะต้องรออีก 5 ปี

นอกจากนี้ กพท.กำหนดให้ทุกสายการบินรายงานงบการเงินในรอบปี 2558 (ม.ค.-ธ.ค. 58) ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559 ซึ่งจากการตรวจภาพรวมพบว่า มี 4 สายการบินที่สถานะการเงินแล้วมีปัญหาสภาพคล่อง จึงจับตาเป็นพิเศษ ยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตใดๆ เป็นการเฝ้าระวัง และหากพบว่าสถานะการเงินไม่เหมาะสมที่จะประกอบธุรกิจต่อไป กพท.สามารถเพิกถอนได้

ส่วนการระงับบิน ไม่กระทบใบอนุญาตการบิน ซึ่งกรณีสั่งพักการบินซิตี้แอร์เวย์ ที่นั้นหากสายการบินสามารถชี้แจงแก้ปัญหาได้ จะสามารถกลับไปทำการบินได้อีกซึ่งปัญหาของซิตี้แอร์เวย์ เนื่องจากมีการพูดคุยกันแล้วเมื่อเดือนธ.ค. 2558 มีการขอเพิ่มเที่ยวบิน และเพิ่มจำนวนเครื่องบิน ซึ่งกพท.ขอให้บริษัทไปแก้ปัญหาเรื่องสถานะทางการเงินให้เรียบร้อยก่อนซึ่งบริษัทไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ที่สุดจึงมีคำสั่งระงับ Flight Permit เมื่อวันที่ 18 ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น