xs
xsm
sm
md
lg

10 ธ.ค. 58 ลุ้นผล EASA “กอบกู้ภาพลักษณ์” หรือ “ทุบหม้อข้าวธุรกิจการบินของไทย“

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้ขึ้นธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ประกาศต่อสาธารณะว่า กรมการบินพลเรือนไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ทาง ICAO ตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program ; USOAP) ได้ภายในระยะเวลา 90 วัน ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบินไม่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน ICAO ไม่ได้รวมถึงสนามบิน สายการบิน เครื่องบินของไทยไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

ธงแดง ICAO กระตุ้นให้รัฐบาล กระทรวงคมนาคม ตื่นตัวแก้ปัญหาการบินอย่างเต็มที่ โดยมีการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน แยกส่วนงานกำกับดูแล หรือ Regulator ซึ่งมีหน้าที่สร้างมาตรฐานออกใบอนุญาตต่างๆ ตั้งเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แยกส่วนงานบริหารสนามบิน 28 แห่ง ตั้งเป็นกรมท่าอากาศยาน และงานการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และงานสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย

แต่เรื่องยากและต้องใช้เวลาอีกเป็นปี คือ การออกใบรับรองผู้เดินอากาศใหม่ (Re-certification AOC) ให้กับ 41 สายการบินใหม่ เพราะปัญหาคือ กพท.ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องจัดหาเพิ่มเติม ทำให้กระบวนการตรวจสอบและออกใบรับรองผู้เดินอากาศใหม่ให้ทุกสายการบินต้องใช้เวลาถึงเดือน ส.ค. 2559 และตามขั้นตอนจะต้องให้ ICAO เข้ามาตรวจสอบซ้ำเพื่อพิจารณาปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ซึ่งอย่างเร็วที่สุดต้องปลายปี 2559

จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2558 สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) แจ้งผลการตรวจสอบระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทย ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน และจัดให้อยู่ในกลุ่ม Category 2 โดยสายการบินของไทยยังคงทำการบินไปสหรัฐอเมริกาตามที่มีอยู่เดิมได้เช่นเดิม แต่ไม่สามารถเพิ่มการให้บริการใดๆ ได้

ทั้งนี้ FAA ได้เข้ามาตรวจสอบ กพท. เมื่อวันที่ 13-17 ก.ค. 2558 โดยพบว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องดำเนินการแก้ไข 35 ข้อ ต่อมา วันที่ 27-28 ต.ค. 2558 FAA ได้เข้ามาตรวจติดตามการแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งหลักๆ คือ จำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินมีไม่เพียงพอ คุณสมบัติเจ้าหน้าที่ไม่ครบตามจำนวนแบบอากาศยานที่ประเทศไทยใช้อยู่และมีการจดทะเบียน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ ICAO ตรวจพบและ กพท.อยู่ระหว่างการแก้ไข

กรณี FAA ลดเกรดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม Category 2 นั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจหรือด้านท่องเที่ยวมากนัก แต่ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายซ้ำซาก สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ กพท.ต้องเร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการภายในใหม่ จะทำแบบเรื่อยๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมเร็วที่สุด โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องดูแลแก้ปัญหาอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ผล FAA ไม่กระทบต่อสายการบินของไทย แต่ที่ต้องลุ้นระทึกกันอีกก็คือ การตรวจสอบมาตรฐานการบินขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ที่จะประกาศผลวันที่ 10 ธ.ค. 2558 หลังจากได้เข้ามาติดตามแผนการแก้ไขของ กพท. และตรวจสอบสายการบินของไทยที่มีเส้นทางบินไปยุโรป คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ เอ็มเจ็ท (ไพรเวท เจ็ท ชาร์เตอร์) เมื่อวันที่ 9-13 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ว่าคำตอบ EASA จะออกมาซ้ำรอย FAA และ ICAO หรือจะสวนทางพอให้ไทยได้เงยหน้าได้บ้าง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า การตรวจสอบของ EASA จะมีความแตกต่างจาก FAA โดย FAA มุ่งให้ความสำคัญต่อมาตรฐาน ความสามารถ ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลว่าเป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO หรือไม่ ส่วน EASA จะให้ความสำคัญต่อสายการบิน มีการตรวจสอบขีดความสามารถความปลอดภัยของสายการบิน เครื่องบินซึ่งมี 2 สายที่ทำการบินไปยังประเทศสมาชิก EASA พร้อมกันนี้ได้รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาของ กพท.ด้วย

“ในส่วนของการตรวจสอบหน่วยงานกำกับดูแล ทาง FAA เน้นที่ผล ซึ่งวันนี้การแก้ไขปัญหายังไม่เสร็จ แต่ EASA เน้นที่แผนการแก้ไขของ กพท. ซึ่งแผนนี้ทาง ICAO รับทราบแล้ว แต่ที่ EASA เน้นคือมาตรฐานของสายการบินมากกว่า เรื่องนี้คณะทำงานค่อนข้างมั่นใจว่าคำตอบของ EASA จะไม่ซ้ำเติมไทย”

ทั้งนี้ ในส่วนของการบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติมีเส้นทางบินสู่ยุโรป เส้นทางบินตรงสู่ยุโรป 9 ประเทศ รวม 11 เส้นทาง ซึ่งรายได้จากเส้นทางยุโรปคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายทั้งหมดจของการบินไทย โดยยืนยันว่าได้เตรียมแผนรองรับกรณี EASA ลดเกรดตาม FAA ไว้แล้ว

ในขณะที่ผ่านมาการบินไทยรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูงมาโดยตลอด และได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากองค์กรด้านความปลอดภัยการบินของประเทศต่างๆ ทั้ง EASA ของยุโรป, FAA ของสหรัฐอเมริกา, CASA (Civil Aviation Safety Authority) ของออสเตรเลีย, CAAC (Civil Aviation Administration of China) ของจีน, JCAB (Japan Civil Aviation Bureau) ของญี่ปุ่น, IOSA (IATA Operational Safety Audit) จาก IATA (International Air Transport Association)

โดยหลังจาก ICAO ตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญของกรมการบินพลเรือนของไทย ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2558 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆ ได้เพิ่มการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการบินในทุกๆ ด้านของการบินไทย (Ramp Inspection, Station Audit and Base Audit) ซึ่งผลการตรวจสอบออกมาว่าการบินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี แสดงให้เห็นว่าการบินไทยยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด

แต่หากเกมพลิก 10 ธ.ค. 2558 EASA ประกาศลดเกรดไทยเป็น CAT 2 เหมือน FAA จะกระทบต่อธุรกิจการบินของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมุมการบินไทยมองว่า หาก EASA ลดเกรดเป็น CAT 2 จะทำให้การบินไทยไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม เพิ่มจุดบินในเส้นทางใหม่ รวมไปถึงไม่สามารถเปลี่ยนรุ่นเครื่องบินได้

“ยุโรปเป็นภูมิภาคสำคัญต่อธุรกิจการบินของไทย หากไทยถูกลดเกรด ถูกแบน นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์แล้ว ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจสำคัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นักท่องเที่ยวยุโรปมีคุณภาพ และไทยยังเป็นปลายทางอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือก จึงมีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะถูกช่วงชิงตลาดท่องเที่ยวไป และหมดโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น