xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” สั่งการบินไทยเตรียมแผนรับ “เอียซา” เร่ง “อาคม” ปลดธงแดง ICAO เรียกเชื่อมั่นคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” สั่ง “การบินไทย” เตรียมแผนสำรองรับมือ “เอียซา” ที่จะแจ้งผล 10 ธ.ค.นี้ ยัน FAA ลดเกรด ไม่กระทบการบิน เหตุไทยไม่มีเที่ยวตรงเข้าสหรัฐฯ แต่กระทบภาพลักษณ์ ต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ชี้จะพลาดอีกไม่ได้ สั่ง “อาคม” รื้อกระบวนการทำงานภายในของสำนักงานการบินพลเรือนฯ และเร่งแก้ SSC ปลดธงแดง ICAO เร็วที่สุด การบินไทยเผยบิน 11 เส้นทางสู่ 9 ประเทศในยุโรป มีสัดส่วนรายได้ถึง 1 ใน 3 เตรียมแผนรับมือแล้ว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration - FAA) ลดเกรดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม Category 2 นั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าวันนี้จะมาทำงานแบบเรื่อยๆ ธรรมดาเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะผลที่ออกมาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศพอสมควร ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม การบริหารจัดการภายในของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สามารถสร้างความมั่นใจกับคนไทยได้ว่าจะกลับสู่สถานภาพเดิมได้ และทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นได้ ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องไปดูแลแก้ไข

“จากนี้จะพลาดซ้ำอีกไม่ได้ ปัญหานี้ผมมองว่าเป็นเรื่องของขั้นตอนการทำงาน เรื่องคนทำงาน ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างขององค์กร โครงสร้างเป็นแค่เปลือกและได้มีการปรับกรมการบินพลเรือนเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยแล้ว กรณี FAA ลดเกรดจะเป็นตัวกระตุ้นเป็นโอกาสให้ไทยพัฒนาตัวเองให้ได้มาตรฐานสากล หากทำทุกอย่างได้มาตรฐานเร็วที่สุด สุดท้ายจะได้รับทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ตอนนี้ต้องรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการบินของประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะต้องพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องท่องเที่ยว ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะปกติสายการบินของประเทศไทยไม่ได้ทำการบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว เพราะมีการทำโค้ดแชร์อยู่ ประเทศไทยน่าเที่ยว เชื่อว่านักท่องเที่ยวยังจะมาเที่ยวแน่นอน” นายสมคิดกล่าว

ส่วนการตรวจสอบของสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (เอียซ่า) จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น นายสมคิดกล่าวว่า ไม่ต้องการพูดกันไปก่อนที่จะรับทราบผลที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ กรณีเอียซา ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณี FAA ลดเกรดไทยนั้น ไม่กระทบต่อสายการบินสัญชาติไทย โดยปัจจุบันการบินไทยทำการบินไปลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ด้วยวิธีโค้ดแชร์กับสายการบินพันธมิตร ส่วนกรณีเอียซาซึ่งจะแจ้งผลการตรวจสอบวันที่ 10 ธ.ค. 58 หากมีการลดระดับเช่นเดียวกับ FAA อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของการบินไทยได้เนื่องจากมีเส้นทางบินไปยุโรป แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบไม่มากนักเพราะยังสามารถให้บริการในเส้นทางบินเดิม และเครื่องบินลำเดิม เพียงแต่ไม่สามารถขยายเส้นทางเพิ่มได้

ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นั้น ทั้งหมดมี 5 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในนตอนที่ 3 คือ การตรวจสอบคู่มือเอกสารตามที่สายการบินสัญชาติไทยทั้ง 41 รายยื่นมา เพื่อพิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) และคาดว่าภายในเดือนส.ค. 2559 กพท.จะสามารถ Re-certification ได้ 28 สายการบิน เป็นไปตามแผนที่ไทยเสนอไปแล้ว ICAO ให้การอนุมัติมา จากนั้นไทยจะเชิญ ICAO เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง หากผ่านการประเมิน ICAO ก็สามารถปลดธงแดงได้ทันที

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทยกล่าวว่า ได้เตรียมแผนรองรับกรณี เอียซ่าไว้แล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ปัจจุบันบริษัทมีเส้นทางบินตรงสู่ยุโรป 9 ประเทศ รวม 11 เส้นทาง ซึ่งรายได้จากเส้นทางยุโรปคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม FAA เคยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Category 2 มาแล้วเมื่อปี 2539 และสามารถกลับมาอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้ในปี 2540 และจากผลการตรวจสอบในปี 2544 และปี 2551 ประเทศไทยยังคงสามารถอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้ โดยจากผลการตรวจสอบของ FAA ในการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Category 2 จะส่งผลกระทบต่อสายการบินของไทยในการปฏิบัติการบินไปยังสหรัฐอเมริกา คือ 1. FAA จะไม่พิจารณาเพิ่มข้อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ (Operation Specifications) 2. FAA จะแนะนำให้กระทรวงคมนาคม สหรัฐอเมริกา (Department of Transportation - DOT) มีมาตรการจำกัดการอนุญาตให้ทำการบินในเชิงพาณิชย์ โดยให้คงระดับตามที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไม่ให้มีการเพิ่มจุดหมายปลายทาง ไม่ให้เปลี่ยนแบบอากาศยาน และไม่ให้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน

3. สายการบินของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปฏิบัติการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วม (Codeshare) กับสายการบินของไทยได้ แต่สายการบินของไทยยังสามารถดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา หรือของประเทศที่จัดอยู่ใน Category 1 ได้ 4. อาจจะมีการทบทวน หรือจำกัดสิทธิทางเศรษฐกิจ (economic right) บางส่วนที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงสิทธิทางการบินสองฝ่าย (Bilateral Air Transport Agreement)
กำลังโหลดความคิดเห็น