xs
xsm
sm
md
lg

อียูแบน-ไม่แบนสายการบินของไทย 10 ธ.ค. 6 โมงเย็นรู้กัน เผยยังพอมีหวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


EASA ให้ความหวัง แจงเห็นความตั้งใจรัฐบาลไทยที่เร่งแก้ปัญหาการบิน รอลุ้นผลที่ประชุมคณะกรรมการอียู 10 ธ.ค. เวลา 18.00 น. ด้าน กพท.เผยกรณีร้ายแรงสุดอียูแบนสายการบินของไทย ห้ามทำการบินเข้าประเทศสมาชิกอียูทุกกรณี เชื่อการบินไทยมีแผนรับมือแล้ว ขณะที่ กพท.ลงนาม EASA ร่วมพัฒนายกระดับมาตรฐานการบินของไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการลงนามร่วม (Cooperation Framework Arrangement on Aviation Safety) ระหว่าง นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ Mr. Patrick Ky Executive Director of The European Aviation Safety Agency (EASA) ว่า

ทาง EASA เป็นหน่วยกำกับดูแลมีหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรป (EU Air Safety Committee) ซึ่งจะแจ้งผลในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ คงไม่สามารถเดาคำตอบได้ แต่ไทยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา ซึ่ง EASA จะประกาศเป็นทางการไม่ใช่เฉพาะสายการบินของไทยประเทศเดียวแต่ประกาศผลทุกสายการบินทั่วโลกที่ทำการบินเข้าอียู ดังนั้นจะมีทั้งสายการบินที่ไม่มีปัญหา สายการบินที่ถูกแบน

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปหรืออียูนั้นมีสมาชิกถึง 28 ประเทศ ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนในการทำเรื่องความปลอดภัยด้านการบินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมาตรฐานของ EASA เน้นเรื่องความปลอดภัยในระดับสูงสุดนั้นจะเป็นต้นแบบในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย และจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันแก้ปัญหาในระยะยาว โดยทาง EASA คาดว่ากระบวนการเรียนรู้จะทำให้ไทยก้าวเป็นผู้นำในด้านความปลอดภัยในภูมิภาคเคียงคู่กับสิงคโปร์ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ชิปของ EASA

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ทางคณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรปจะประชุมในช่วงเช้าและประกาศผลการพิจารณาในเวลา 12.00 น. ตามเวลาที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ตรงกับเวลา 18.00 น. ของประเทศไทย ซึ่งจากการเข้ามาตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซา จะพิจารณาในเรื่องความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการบิน และระบุว่าไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการอียูจะตัดสินใจอย่างไรในวันที่ 10 ธ.ค.นี้

ซึ่งการประกาศสำหรับประเทศไทย อียูจะไม่ประกาศลดเกรดเหมือน FAA แต่อียูจะประกาศห้ามสายการบินของประเทศไทยทำการบินเข้าอียู ซึ่งกรณีที่ดีที่สุดคือจะไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในประเทศที่ต้องเฝ้าระวังของอียู ซึ่งจะไม่มีการแบนสายการบินของประเทศไทยที่ทำการบินเข้าอียู ปัจจุบันมี 2 สาย คือ การบินไทย และเอ็มเจ็ท กรณีแย่ที่สุด คือประกาศแบนทุกสายการบินของไทย หรือแบนเป็นรายสายการบิน ซึ่งการถูกอียูแบนหมายความว่าสายการบินของประเทศไทยจะไม่สามารถทำการบินเข้าไปอียู หรือทำโค้ดแชร์ภายใต้การ operate โดยสายการบินของไทยน่าจะทำไม่ได้เลย คือไม่สามารถขายตั๋วเดินทางเข้ายุโรปได้เลยจนกว่าจะปลดคำสั่งแบนได้ ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่ากรณี FAA ดังนั้น ทางการบินไทยจะต้องเตรียมแผนรองรับในทางธุรกิจไว้ด้วย หรือ Business Interruption

โดย EASA เป็นตัวแทน 28 ประเทศของอียู ทำการประเมินสายการบินต่างๆ โดยในรอบนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เชิญให้ EASA มาประเมิน โดย EASA ได้มาดูแผนการแก้ปัญหาที่ กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้วย แต่ EASA จะเน้นที่สายการบินมากกว่า โดย EASA จะเสนอผลการประเมินไปที่กระทรวงคมนาคมของอียู เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการอียูต่อ ซึ่งอียูจะมีการตรวจสอบและประกาศการพิจารณาสายการบินต่างๆ ของทุกประเทศที่ทำการบินเข้าอียูทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วในส่วนของไทยอียูประกาศว่าไม่มีเหตุที่จะต้องแบนสายการบินของไทย

นายปีเตอร์ บอมเบย์ รองหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านการเดินอากาศ กระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป กล่าวว่า เกณฑ์หลักๆ ที่จะพิจารณาเรื่องการบินของประเทศไทยนั้นจะเน้นเรื่องความจริงใจของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับทราบเห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจ จากที่ได้มีการจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา ซึ่งอียูเห็นว่าประเทศไทยจะเป็นหลักในการเจรจาของอียูกับอาเซียนด้วย

***EASA ลงนาม กพท.ช่วยยกระดับมาตรฐาน

สำหรับความร่วมมือระหว่าง กพท. กับ EASA นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นการจัดทำกฎระเบียบและแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยนำแนวคิด วิธีการ กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ และเอกสารคู่มือต่างๆ ของ EASA มาเป็นแนวทางการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยการบินของไทย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น