“อาคม” สั่ง กพท.ตรวจสอบข้อมูลชั่วโมงนักบินของนกแอร์ เหตุถูกแฉทำผิดเพราะมีนักบินไม่พอ ย้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้โดยสาร หากผิดจริงโทษหนักถึงเพิกถอน AOC ส่วนนักบินต้นตอปัญหา หากตรวจพบละทิ้งหน้าที่จริงโดนด้วยทั้งปรับและถอนใบอนุญาต คาดสรุปใน 1 เดือน ย้ำยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีเหตุผลทำไม่ได้ ยอมรับผลิตนักบินไม่ทันขาดแคลนหนักจนต้องซื้อตัว เร่งหาทางแก้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยการตรวจเยี่ยมสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ว่า ได้หารือถึงการแก้ปัญหาสายการบินนกแอร์ นกแอร์ยกเลิก 9 เที่ยวบินเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งนกแอร์ได้ส่งรายงานคำชี้แจงรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
โดยได้มอบให้ กพท.พิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร และสรุปผลเสนอกระทรวงคมนาคมในวันที่ 23 ก.พ.นี้เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนกแอร์
พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ กพท.ดำเนินการใน 5 เรื่อง คือ 1. ตรวจสอบชั่วโมงการบินนักบินทุกคนของนกแอร์ เนื่องจากมีข่าวออกตามสื่อว่านกแอร์มีปัญหาขาดนักบินทำให้นักบินต้องบินเกินชั่วโมงที่กำหนด เป็นสาเหตุให้นักบินมีสภาพไม่พร้อมทำการบิน ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้โดยสารและประชาชนว่านกแอร์ได้ปฏิบัติตามกฎกติกาที่กำหนด คือ ข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ฉบับที่ 85 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของสายการบินในเรื่องความปลอดภัย, ข้อบังคับ กบร.ฉบับที่ 86 ที่ให้สายการบินกำกับเจ้าหน้าที่การบินให้ทำหน้าที่บริการประชาชน, ประกาศกรมการบินพลเรือน ปี 2552 และปี 2553 ซึ่งกำหนดเวลาในการปฏิบัติการบินของนักบิน
2. ให้ กพท.ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการไล่ออกและสอบสวนนักบิน โดยขอข้อมูลจากนกแอร์เพื่อนำมาพิจารณาตามข้อกฎหมายตามประกาศของกรมการบินฯ ต่อไป ซึ่งกรณีที่นกแอร์ระบุว่านักบินมีความผิด ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ เนื่องจากหากผิดจริงจะต้องถูกดำเนินการทั้งอาญา มีโทษปรับ 50,000 บาท และทาง ปกครอง คือ เพิกถอนใบอนุญาตนักบิน
3. ให้ กพท.สอบทานระบบการบริหาร และคุณสมบัติของผู้บริหารสายการบินว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ ซึ่งกรณีนกแอร์นั้นระบุว่าอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อรองรับธุรกิจการบินระหว่างประเทศ จึงมีการแยกนักบินกับผู้บริหารด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องของระบบการตรวจสอบ 4. ให้ กพท.ทำหนังสือเวียนถึงสายการบินเพื่อย้ำถึงกรณียกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีเหตุผลอันควรไม่สามารถทำได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้า
5. ให้ กพท.ตรงจสอบนกแอร์ในเรื่องการดูแลคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารตามเงื่อนไขใบอนุญาต ครบถ้วนหรือไม่ เช่น การคืนเงิน, เลื่อนเที่ยวบิน, จัดระบบขนส่งอื่นให้เดินทางแทน, จัดหาเครื่องดื่ม อาหาร ที่พัก โดยเบื้องต้นผู้โดยสารจะได้ชดเชยคนละ 1,200 บาท ตามข้อกำหนด กพท.
นายอาคมกล่าวว่า หากมีตรวจสอบแล้วพบว่ามีนักบินทำงานเกิน โทษคือ เพิกถอนใบอนุญาตของสายการบิน จำนวนนักบิน จำนวนเครื่องบินที่มีต้องสัมพันธ์กัน และต้องมีนักบินสำรองกรณีมีเหตุฉุกเฉิน หากมีนักบินไม่พอจะเกิดการดีเลย์ ดังนั้นจะต้องลดเที่ยวบินลงให้สอดคล้องกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าธุรกิจการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนนักบินและมีการซื้อตัวกัน ขณะที่การผลิตนักบินมีข้อจำกัด ซึ่งในปี 2559 สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รับศิษย์การบินเพิ่มจาก 80 คนเป็น 100 คนเท่านั้นเนื่องจากไม่มีครูฝึก ดังนั้นได้ให้ สบพ.ตรวจสอบโรงเรียนการบินเอกชนที่มีหลายแห่ง เช่น ที่นครพนม, อัสสัมชัญ ศรีราชา ว่ามีศักยภาพในการผลิตนักบินแค่ไหน พร้อมทั้งประเมินความต้องการบุคลากรด้านการบินของทั้งประเทศ โดยทั้งหมดให้สรุปเสนอคมนาคมภายใน 1 เดือน
“เมื่อมีการพูดกันผ่านสื่อว่านักบินไม่พอ ใช้นักบินทำการบินเกินชั่วโมงที่กำหนดตามมาตรฐานความปลอดภัย ทาง กพท.ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร เพราะสร้างความมั่นใจกับผู้โดยสาร หากเป็นจริงนกแอร์จะต้องถูกลงโทษตามระเบียบ ซึ่งทั้ง 5 ข้อให้ กพท.สรุปภายใน 1 เดือน ส่วนข้อมูลที่นกแอร์ชี้แจงกรณีที่เกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ก.พ.นั้น กพท.จะสรุปเสนอผมในวันอังคารที่ 23 ก.พ.นี้ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป” นายอาคมกล่าว
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดี ทย.และรักษาการ ผอ. กพท.กล่าวว่า ประกาศกรมการบินพลเรือนปี 2553 เรื่องมาตรฐานการทำงาน ชั่วโมงบิน และการพักของนักบิน ลูกเรือ ซึ่งกรณีนกแอร์ขอดูพิเศษเพราะมีประเด็นเกิดขึ้น ซึ่งปกติ กพท.สุ่มตรวจอยู่แล้ว เพราะทุกสายการบินต้องเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคลไว้อยู่แล้ว ถ้าทำงานเกินโทษหนักสุดคือ เพิกถอนใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC)
โดยปัจจุบันมีนักบินพาณิชย์จำนวน 2,376 คน นักบินเฮลิคอปเตอร์ 96 คน รวม 2,472 คน ส่วนนักบินพาณิชย์ตรีหรือนักบินผู้ช่วย จำนวน 3,600 คน รวมนักบินมีทั้งสิ้น 6,072 คน ส่วนเครื่องบินจดทะเบียนมีจำนวน 625 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์ 400 ลำ เครื่องบินส่วนตัว 225 ลำ ขณะที่ข้อกำหนดการปฏิบัติงาน มาตรฐานนักบิน ไม่เกิน 34 ชม./สัปดาห์ หรือไม่เกิน 110 ชม./28 วัน หรือไม่เกิน 1,000 ชม./ปี