รมว.เกษตรฯ ย้ำ “นักบินลาออก” ซบสายการบินพาณิชย์ ไม่กระทบโครงการทำฝนหลวงแก้ภัยแล้ง ยัน 54 คนภายใต้อากาศยาน 41 ลำ ไม่มีปัญหา เผยมีมาตรการรองรับตามขั้นตอน ประสานกองทัพอากาศผลิตนักบินฝนหลวงทดแทน เผยนักบินทำฝนหลวง รายได้เริ่มต้น 3 หมื่น ต่างนักบินพาณิชย์ลิบลับ ชี้นักบินใหม่แค่มาเก็บชั่วโมงบิน หวั่งผู้ใหญ่ปรับแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจใหม่
วันนี้ (2 มี.ค.) มีรายงานว่า ภายหลังจากนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงฯ ได้รับผลกระทบขาดแคลนนักบินในโครงการปฏิบัติการฝนหลวง 43 ตำแหน่ง รวมถึงฝ่ายปฏิบัติการควบคู่กับนักบินในการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งไม่แตกต่างอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยที่มีการยกระดับมาตรฐานการบิน ถึงกลับระบุว่ากลายเป็นภาวะสมองไหล นักบินลาออกไปสมัครการบินพาณิชย์เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูงกว่า การแก้ปัญหาทำได้เพียงเร่งวิเคราะห์กำลังคน อัตราผลตอบแทน และสร้างความมั่นคงให้และก้าวหน้าในสายอาชีพของนักบินฝนหลวงให้ชัดเจนและทัดเทียมกับนักบินเพื่อการพาณิชย์ โดยปัจจุบันมีอากาศยานประจำการทั้งหมด 41 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบิน 34 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ แต่นักบินมีเพียง 53 ตำแหน่ง อายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป
ทำให้วันนี้ (2 มี.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมายอมรับว่าได้เตรียมแผนรองรับปัญหานักบินฝนหลวงลาออกไว้แล้ว โดยเฉพาะแผนปรับโครงสร้างอัตรากำลังของกรมฝนหลวง ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือนนี้ หลังจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีนักบินฝนหลวงลาออกเพิ่มเติมอีก 4 คน จากปีที่แล้วลาออกไปแล้ว 16 คน จนเกิดความวิตกกังวลว่าจะกระทบต่อการดำเนินโครงการฝนหลวงช่วงวิฤกตภัยแล้ง
“ขอยืนยันว่าขณะนี้จำนวนนักบินที่มีอยู่ 54 คน สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ภายใต้อากาศยานที่มีอยู่ 41 ลำ โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ แต่ก็จะมีการพิจารณารับนักบินเพิ่มเพื่อแบ่งเบาภาระงาน เบื้องต้นได้ประสานกองทัพอากาศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการผลิตนักบินแล้ว พร้อมทั้งเตรียมของบประมาณจากกรมการบินพลเรือน ในการผลิตนักบินรุ่นต่อๆ ไปมาทดแทนไม่ให้ขาดช่วง ขณะเดียวกันจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้แก่นักบิน เริ่มต้นงวดแรกเดือน มิ.ย.นี้” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว และว่าได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำรับภัยแล้งใน 10 เขื่อนระดับภูมิภาค อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล (ภาคเหนือตอนบน) มีการปรับแผนการส่งน้ำแบบเป็นรอบเวร ปริมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ใน 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด และการประปาส่วนภูมิภาค ได้นำน้ำอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแล้ว ส่วน 12 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง มีเพียง จ.นครราชสีมา ที่ประกาศภัยพิบัติ
มีรายงานข้อมูลล่าสุดของ “อากาศยานเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง” พบว่า มีรวมทั้งสิ้น 30 ลำ ประกอบด้วยอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 8 ลำ เพื่อใช้ จัดสรรตามความเหมาะสมในการปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ มีแผนการดำเนินการจัดตั้งหน่วย ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10-12 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการ ที่ได้ดำเนินการแล้ว 2 ช่วง คือวันที่ 15 ก.พ. และวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภาค
มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การลาออกจากนักบินฝนหลวงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะรายได้ของนักบินทำฝนหลวงเริ่มต้นเพียงเดือนละ 30,000 บาท ขณะที่สายการบินพาณิชย์เริ่มต้นที่ 70,000 บาท ทำให้นักบินใหม่ส่วนใหญ่จะมาเก็บชั่วโมงบิน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการบินทำฝนหลวง และลาออกไปบินสายการบินพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าแต่รายได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการลาออกของนักบินโครงการฝนหลวง จากข้อมูลของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภายในกองบิน 1 จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2556 ระบุว่า กรมฝนหลวงมีเครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ ประจำการตามศูนย์ฝนหลวงภาคต่างๆ ภาคละ 1 เครื่อง รวม 4 เครื่อง เพื่อใช้สำหรับภารกิจขึ้นบินสำรวจพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่ที่ร้องขอให้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง แต่มีนักบินที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียง 7 นาย ซึ่งตามกฎการบินจะต้องมีนักบินประจำเครื่องบินอย่างน้อยลำละ 2 คน ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการขึ้นบินสำรวจและขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง โดยผลกระทบก็ไปตกอยู่ที่ประชาชน จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
สำหรับสาเหตุที่นักบินมีไม่เพียงพอ เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจการบินเพื่อการท่องเที่ยวด้วยการเช่าเหมาลำของบริษัทเอกชนกำลังได้รับความนิยม ทำให้บริษัทเอกชนที่ให้บริการธุรกิจประเภทนี้ หันมาว่าจ้างนักบินตามหน่วยงานภาครัฐ โดยมีแรงจูงใจทั้งในเรื่องของเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่สูงกว่าภาครัฐ ทำให้เฉพาะในปีนี้มีนักบินลาออกไปเกือบ 10 นายแล้ว
โดยเหตุผลที่บริษัทเอกชนหันมาให้ความสนใจนักบินของภาครัฐ เนื่องจากนักบินเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถเข้าไปทำงานด้านการบินได้ทันที จะช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณในการฝึกนักบินใหม่ๆ หากบริษัทเอกชนให้ทุนสนับสนุนนักบินรุ่นใหม่แต่ละรุ่น จะต้องใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะได้นักบินที่มีคุณภาพ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ดังนั้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้คาดว่าจะมีนักบินอีกหลายนายจะลาออกจากภาครัฐ หันไปทำงานกับเอกชนมากขึ้น ต่อไปหน่วยงานภาครัฐจะไม่มีนักบินประจำการ อาจจะต้องอาศัยการว่าจ้างเช่าเหมาจากบริษัทเอกชนซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงตามไปด้วย
“สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนักบิน เบื้องต้นอยากให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ปลัดกระทรวง ไปจนถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาให้ความสำคัญด้านสวัสดิการต่างๆ ของนักบินภาครัฐ โดยอาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราเงินเดือน หรืออัตราค่าชั่วโมงบินให้ใกล้เคียงกับเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจ และเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักบินอีกด้วย” ข้อมูลของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภายในกองบิน 1 จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2556 ระบุไว้