“อาคม” เผยสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ก่อสร้างได้ตามแผน กำหนดเสร็จปี 60 ด้านกรมทางหลวง จ่อเสนอของบกลางปี 59 จำนวน 200 ล้านบาท เร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้เสร็จใน พ.ย. โดยเตรียมเชิญ “นายกฯ” เป็นประธานพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานในเดือน ก.ย. ขณะที่ถนนฝั่งไทยจะเสร็จไม่เกินต้นปี 60 ส่วนถนนฝั่งพม่า 4 กม.อยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 งบประมาณ 3,900 ล้านบาท มีความคืบหน้าตามแผนงาน โดยเฉพาะตัวสะพานมีความคืบหน้าประมาณ 35% ส่วนตัวถนนในฝั่งประเทศไทยคืบหน้าประมาณ 10% ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเอง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน 2 ศูนย์ และสำนักก่อสร้างทาง 4 ศูนย์ ทำให้ก่อสร้างได้รวดเร็วแต่เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการ จึงต้องก่อสร้างให้สอดคล้องต่องบประมาณที่ได้รับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางานเร็วกว่างบ ส่วนงานถนนในฝั่งพม่า ระยะทางประมาณ 4 กม.นั้น พม่ากำลังดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การก่อสร้างขณะนี้ใช้งบกลางปี 2558 วงเงิน 500 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเริ่มต้น และกรมทางหลวงเตรียมเสนอของบกลางปี 2559 วงเงิน 200 ล้านบาทเพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างสะพานให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2559 โดยในเดือน ก.ย.นี้ จะมีพิธีเทคอนกรีตเพื่อเชื่อมสะพาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนการก่อสร้างถนนฝั่งประเทศไทย จะแล้วเสร็จปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ขณะที่ถนนฝั่งพม่านั้น ทางพม่าจะจัดสรรพื้นที่ส่งมอบเพื่อก่อสร้างได้ก่อนในเดือน ก.พ.นี้ ระยะทาง 2 กม. ส่วนอีก 2 กม.ที่เหลือจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน พ.ค.2559 โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2558 งบประมาณ 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณก่อสร้างทางเลี่ยงและสะพานในฝั่งประเทศไทย วงเงิน 2,900 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรงบกลางปี 2558 วงเงิน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 2559 จำนวน 1,020 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 1,972 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 408 ล้านบาท โดยอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานในฝั่งพม่า โดยการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2560
สำหรับการก่อสร้างมี 3 ส่วน คือ แนวเส้นทางเป็นแนวทางใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร (ฝั่งไทย 17.26 กิโลเมตร และฝั่งพม่า 4.14 กิโลเมตร) โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 12 และบรรจบกับถนนหมายเลข 85 (เมียวดี-กอกาเร็ก) สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 กำหนดให้มี 2 ช่องจราจร ความยาว 760 เมตร (ฝั่งไทย 515 เมตร และฝั่งพม่า 245 เมตร) และด่านพรมแดน และจุดสลับทิศทางกำหนดให้มี 2 แห่ง ทั้งในฝั่งไทย และพม่า โดยออกแบบให้สอดคล้องต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศ สำหรับจุดสลับทิศทางกำหนดไว้ที่ฝั่งไทย