xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมผุดแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2 ต่อโครงข่ายเชื่อมจังหวัดรอบ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เตรียมจ้างที่ปรึกษาเพืิ่อศึกษาและออกแบบ “แผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2” เน้นวางโครงข่ายเป็นใยแมงมุมและต่อเชื่อมเส้นทางเดิมออกไปยังเมืองบริเวารโดยรอบ กทม. ทั้ง อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม, สมุทรสาคร ดึงที่พักอาศัย กระจายออกนอก กทม. ลดแออัดในเขตเมือง พร้อมสร้างจุดเชื่อมต่อย่อยระหว่างรถไฟฟ้าแต่ละสายเพื่อย่นระยะเวลาเดินทาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมกำหนดกรอบแนวคิด ในการจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะ 2 ว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ตั้งงบประมาณปี 2560 เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบโครงข่ายแล้ว โดยจะทำให้รถไฟฟ้าสายทางต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายใยแมงมุม เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และทำจุดเชื่อมต่อของระบบรถไฟฟ้าในแต่ละสายเพิ่มเติม จากโครงการในแผนแม่บทระยะแรกที่มีจุดเซ็นเตอร์ที่สยาม และบางซื่อ โดยจะต้องวิเคราะห์ความหนาแน่นของประชากรและความต้องการในการเดินทางการเชื่อมต่อในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแผนแม่บทระยะที่ 2 นี้จะเป็นแนวทางในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสำหรับให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปใช้เป็นแนวทาวปฎิบัติได้ ดังนั้นจะต้องศึกษาและวางโครงข่ายให้ดี ไม่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวไปมาเหมือนที่ผ่านมาซึ่งทำให้โครงการล่าช้า

โดยกรอบแนวคิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1. โครงข่ายจะต้องเชื่อมต่อไปยังเมืองรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่อกระจายที่อยู่อาศัยออกไปด้วย ซึ่งจะเป็นการวางโครงข่ายไปด้านเหนือถึงพระนครศรีอยุธยา ด้านตะวันออกถึงฉะเชิงเทรา ด้านใต้ ถึงสมุทรสาคร และนครปฐม และสมุทรปราการ โดยให้สามารถเดินทางเข้า กทม.ได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง 2. โครงข่ายจะต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใน กทม.กับรถไฟชานเมือง 3. โครงข่ายจะต้องเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าในเมืองกับรถไฟระหว่างเมือง ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง และเชื่อมไปยังถนนวงแหวนรอบนอก

4. มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์จากพื้นที่ตามแนวเส้นทาง 5. ใช้ประโยชน์ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง เช่น สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะไม่มีเดปโป้ที่ปลายทางราษฎร์บูรณะ โดยให้ใช้เดปโป้คลองบางไผ่ร่วมกับรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งการเดินรถจะเป็น รูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ รัฐเป็นเจ้าของ สามารถจัดสรรการใช้รางและระบบอาณัติสัญญาณร่วมกันหลายรายได้ 6. ใช้วัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) ให้มากที่สุด ทั้งสถานีและตัวรถไฟฟ้า ลดการออกแบบที่หรูหราฟุ่มเฟือย ใช้วัสดุที่เหมาะสมและจำเป็น แต่จะต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในแผนแม่บทระยะที่ 1 จำนวน 10 สาย จะดำเนินการก่อสร้างและประกวดราคาได้หมดภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยยังเหลือสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม. วงเงิน 95,108 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับลดวงเงินค่าก่อสร้าง ,สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,690.99 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท เสนอคณะไปยังคณะกรรมการ PPP เพื่อเข้า PPP Fast track แล้ว, สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กม.อยู่ในขั้นตอนการเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส่วนสายสีเขียวจะมีการเสนอเพื่อต่อขยายส่วนเหนืออีก 4 สถานี จากคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 7 กม. และส่วนใต้อีก 4 สถานี จากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. ส่วนสายสีแดง จากหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัยระยะทาง 38 กม.นั้น เนื่องจากติดปัญหาไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงให้พับแผนไว้ก่อน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง และสีเทา ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการศึกษานั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องมาที่ สนข.แล้ว เพื่อรวบรวมเสนอที่ประชุท คจร.รับทราบว่า กทม.ได้ศึกษา 2 เส้นทางนี้ แต่จะได้รับการบรรจุไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาในภาพรวมว่าสายสีเทาและสีทองที่ กทม.ศึกษา มีการเชื่อมโยงกับเส้นทางอื่นเป็นโครงข่ายหรือไม่ และการลงทุนมีความคุ้มค่าหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น