อคส.ตั้งวอร์รูมคุมเข้มการขนย้ายข้าวเสื่อมออกจากสต๊อกไปยังโรงงาน ดึง คสช. ตำรวจร่วมตรวจสอบ มั่นใจไม่มีหลุดรอดออกสู่ตลาดบริโภค แจ้งประชาชนหากพบเบาะแสนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แจ้งสายด่วน 1559 มีเงินรางวัลให้ 1 แสนบาท
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยถึงการกำกับดูแลการขนย้ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรม หลังจากที่บริษัท ว.ธนทรัพย์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 21,180 ตันเพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้มาทำสัญญากับ อคส.ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 ว่า ขณะนี้บริษัทได้ชำระเงินงวดแรกสำหรับข้าว 5,000 ตันแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2559 และเริ่มขนย้ายข้าวออกจากโกดังทันที ทั้งคลังที่จังหวัดพิษณุโลก นครปฐม นครศรีธรรมราช และสุรินทร์ ล่าสุดจนถึงวันที่ 9 ก.พ. 2559 สามารถขนข้าวได้แล้ว 640 ตัน
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ก.พ.นี้บริษัทดังกล่าวจะมาชำระเงินงวดที่ 2 สำหรับข้าวอีก 5,000 ตันที่สอง และจะต้องขนย้ายข้าวทั้ง 10,000 ตันแรกออกโกดังภายใน 20 วันทำการ หรือภายในวันที่ 28 ก.พ. หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาบริษัทจะต้องถูกปรับ
ส่วนการขนย้ายข้าวออกจากคลังขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ที่จังหวัดนครสวรรค์ จะใช้มาตรฐานการขนย้ายเดียวกันนี้
พล.ต.ต.ไกรบุญกล่าวว่า การขนย้ายข้าวออกจากโกดังจนถึงโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของบริษัท อคส. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการขนย้ายระบายข้าวสารตามนโยบายรัฐบาล (วอร์รูม) เพื่อกำกับดูแลการขนย้ายให้เป็นไปตามแผน และไม่ให้มีข้าวไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ หรือไหลเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค โดยได้วางแผนคุมการขนย้ายอย่างรัดกุมที่สุด และทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ อคส. และ อ.ต.ก.ประจำจังหวัด รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคุมเข้มตั้งแต่กระบวนการขนย้าย ตรวจสอบประวัติผู้ขับขี่รถบรรทุก การขนข้าวขึ้นบรรทุก การคลุม (ซีล) ผ้าใบ การชั่งน้ำหนัก และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพการขนข้าว เคลื่อนย้ายข้าวจากสถานที่เก็บไปสู่โรงงาน
“ได้มอบหมายผู้บริหาร หัวหน้าคลัง พนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประจำคลังสินค้าต้นทาง และที่โรงงานซึ่งเป็นปลายทาง เพื่อให้การปฏิบัติทุกขั้นตอนรัดกุม โปร่งใส โดยกำหนดให้ขนย้ายข้าวตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อรถบรรทุกถึงจุดตรวจ ซึ่งมีตำรวจทางหลวงประจำการอยู่ คนขับรถบรรทุกต้องลงมาถ่ายรูปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งภาพมาทางไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่วอร์รูม ถ้าต้องขนย้ายออกจากโกดังในจังหวัดไกล เช่น นครศรีธรรมราช ต้องพักค้างแรม ตำรวจทางหลวงจะจัดหาที่พักให้ เมื่อข้าวไปถึงโรงงานแล้วต้องทำแผนที่การวางกระสอบ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริษัท รวมถึงที่จุดการผลิต บ่อหมัก เพื่อให้เห็นว่าข้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะไม่มีข้าวหลุดออกไปสู่ผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม อคส.จะประเมินการทำงาน โดยจะประชุมวอร์รูมทุกวันในเวลา 10.00 น. และ 17.00 น. รวมถึงได้ประสานศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอใช้โทรศัพท์สายด่วน 1599 เพื่อรับแจ้งข้อมูลเบาะแสที่เกี่ยวข้อง โดยหากมีการนำข้าวในโครงการไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และมีผู้แจ้งเบาะแสจนสามารถนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย จะมีเงินรางวัลนำจับ 100,000 บาท
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อคส.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการกำกับดูแลการขนย้ายข้าวล็อตนี้อย่างรัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้มีข้าวไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ เพราะเป็นข้าวที่คนและสัตว์ไม่สามารถบริโภคได้เลย และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ยังได้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อติดตามดูแลการขนย้ายข้าวเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมด้วย
สำหรับข้าวจำนวน 16,000 ตันที่บริษัท สินไชยศรี จำกัด ซึ่งชนะการประมูลอีกรายหนึ่ง แต่ไม่มาทำสัญญากับ อคส. กรมการค้าต่างประเทศจะนำมาเปิดประมูลใหม่ และบริษัท สินไชยศรี ได้ถูกยึดเงินค้ำประกันแล้ว พร้อมกับถูกขึ้นบัญชีดำไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลข้าวกับภาครัฐได้อีก