ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังคนกังวลเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ตลาดหุ้นตก น้ำมันลง แถมภายในส่งออกลบหนัก ราคาเกษตรดิ่ง ทั้งข้าว ยางฯ คาดกำลังซื้อซึมยาว แต่จะดีขึ้นกลางไตรมาส 2
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนม.ค. 2559 ว่า ดัชนีได้ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 75.5 ลดจาก 76.1 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 55.3 ลดจาก 55.8 ปรับตัวลดลงครั้งแรกรอบ 4 เดือนเช่นเดียวกัน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 83.5 ลดจาก 84.3 ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 64.4 ลดจาก 65.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 70.3 ลดจาก 70.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 91.7 ลดจาก 92.4
ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลาดหุ้นโลกลดลง ราคาน้ำมันโลกตก การเมืองระหว่างประเทศไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2559 เหลือ 3.2-4.2% จากเดิม 3.8% การส่งออกปี 2558 ลดลง 5.78% ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา และปศุสัตว์ และยังมีปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเกษตรลดลง กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและกำลังซื้อ เงินบาทยังคงอ่อนค่า และผู้บริโภคยังวิตกเกี่ยวกับค่าครองชีพ และรู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ส่วนปัจจัยบวกมาจาก สศค. คาดเศรษฐกิจปี 2558 จะโต 2.8% ได้รับผลดีจากการกระตุ้นของภาครัฐ การช่วยเหลือเกษตรกร และการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลลดลงมาอยู่ที่ 19.69 บาทต่อลิตร และ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ม.ค. 2559 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนเพราะมีปัจจัยลบมากมาย ผู้บริโภคเลยไม่มั่นใจและรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยศูนย์ฯ มองว่าหากรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง จะทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้