xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ดันตั้ง “กองทุนอินฟราฯ” ลงทุนด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง 2.7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
กทพ.ชงตั้ง “กองทุนอินฟราฯ” สร้างทางด่วน “พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก” วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน ตั้งเป้าตอกเข็มปี 60 ระบุมีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอลงทุนเอง โดยปี 63 จะมีรายได้เพิ่มอีก 4,000 ล้าน หลังสัมปทานด่วน 2 กับ BEM ครบกำหนด เผยเจรจา BEM ลงทุนสร้างแลมป์เชื่อมด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับด่วน 2 ไม่ยุติ รับไม่ได้เอกชนขอตั้งด่านเก็บเงิน

พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ว่า กทพ.จะเสนอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ ในการลงทุนก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ซึ่งไม่เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาล และ กทพ.จะมีสิทธิในการบริหารจัดการโครงการเต็มที่ โดยสามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสม แม้ว่าอาจจะต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนบ้าง ซึ่งต่างจากการให้สัมปทาน (PPP) ที่เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยง แต่สัญญาสัมปทานจะมีเงื่อนไขเรื่องการปรับขึ้นค่าผ่านมาทางเพื่อให้เอกชนมีความคุ้มทุนด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทพ.มีรายไดปีละกว่า 10,000 ล้านบาท มีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 3,500 ล้านบาท หากกระทรวงการคลังผ่อนปรนเรื่องการส่งเงินเข้าคลังลง ซึ่งปัจจุบันจัดส่งที่อัตรา 40%ของกำไร และนำเงินส่วนนี้ไปชำระคืนเงินลงทุนปีละ 5,000 ล้านบาท จะคืนทุนได้ภายใน 10 ปี นอกจากนี้ หลังปี 2563 กทพ.จะมีรายได้เพิ่ม เนื่องจากสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ-พระราม 9) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.พ. 2563 คาดว่ากทพ.มีรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มจากปัจจุบันที่ 4,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นศักยภาพในการจัดตั้งกองทุนฯ

“จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ รายละเอียดข้อมูลเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียแต่ละรูปแบบ ส่วนการระดมทุนอาจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อจูงใจประชาชนให้ซื้อกองทุนฯ โดยคาดว่าจะเสนอรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประมาณเดือน พ.ค. ส่วนจะเลือกรูปแบบใด ขึ้นกับสคร.และกระทรวงคลัง หากไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนอินฟราฟันด์ฯ จะให้สัมปทานเอกชนเหมือนเดิม ก็ไม่มีปัญหา”

สำหรับทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.923 กม. มูลค่าโครงการ 2.7 หมื่นล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,200 ล้านบาท) กทพ.ว่าจ้างบริษัท เอฟซิลอน จำกัด ออกแบบรายละเอียดวงเงิน 69,253,289 บาท ระยะเวลา 10 เดือน จากนั้นจะเร่งเสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการภายในปีนี้ และตั้งเป้าตอกเข็มในปี 2560 ขณะเดียวกันจะหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการต่อขยายเส้นทางจากถนนพระราม 2 กม. 10+700 ไปถึงวังมะนาว ว่ากรมทางหลวงจะดำเนินการเอง หรือให้ กทพ.ดำเนินการ

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กม. จะเปิดให้บริการเดือน ก.ค.นี้ ช่วงแรกอาจจะเปิดให้ทดลองใช้ฟรีก่อน จะจัดเก็บค่าผ่านทาง 50 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ยังเป็นห่วงปัญหาจราจรทางลงที่บริเวณย่านพหลโยธิน ซึ่งมีแนวคิดก่อสร้างทางเชื่อมต่อ (แลมป์) เพื่อรับรถจากทิศทางออกเมืองด้านเหนือไปยังถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทางประมาณ 300 เมตรโดยไม่ต้องลงระดับดิน ซึ่งได้เจรจากับการรถไฟฯ ขอใช้พื้นที่โดยจ่ายค่าเวนคืน 150 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท ได้เจรจากับ BEM แต่บริษัท ขอก่อสร้างด่านเก็บเงินเพิ่มที่จุดเชื่อมดังกล่าว ทำให้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะ กทพ.เห็นว่าไม่ควรมีการเก็บค่าผ่านทางจุดเชื่อมต่อนี้

“หลังเปิดทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ อาจจะมีความไม่สะดวก คือ รถที่มาจากด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ หากจะขึ้นไปทางทิศเหนือ จะต้องลงที่บางซื่อแล้วย้อนกลับขึ้นทางด่วนแจ้งวัฒนะเพื่อออกนอกเมือง จึงควรมีแลมป์เชื่อม นอกจากนี้ เห็นว่าควรมีแลมป์เชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณทางด่วนงามวงศ์วาน เพิ่มอีกจุด เพื่อระบายรถจากทิศเหนือมุ่งหน้าทิศตะวันตก ย่านฝั่งธนฯ โดยไม่ต้องวิ่งอ้อมมาลงที่ยมราช แล้วข้ามสะพานพระราม 8 ซึ่งจะช่วยร่นระยะทางและเวลา ผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเจรจากับ BEM เพิ่มเติม”

เซ็น 3 สัญญา “ปรับปรุงด่าน-ตู้เก็บเงิน-ออกแบบด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง”

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า กทพ.ลงนามสัญญาว่าจ้าง บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 469,500,000 บาท เพื่อปรับปรุงทางพิเศษกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว บรรเทาปัญหาจราจรหน้าด่าน โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับและทางระดับดินขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.3 กม. และก่อสร้างช่องเก็บเงินเพิ่มเติมจำนวน 9 ช่องทาง รวมถึงติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษทั้งแบบเงินสดและแบบอัตโนมัติ ก่อสร้างอาคารที่พักพนักงาน ที่พักตำรวจ และห้องน้ำสาธารณะ ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน (2 ปี)

ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท สมาร์ท แทรฟิค จำกัด วงเงิน 333,000,000 บาท ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อ เพื่อทดแทนระบบเดิมที่เปิดใช้งานมากว่า 14 ปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด จำนวน 101 ช่องทาง ปรับปรุงระบบจ่ายบัตรอัตโนมัติ (ATD) ปรับปรุงระบบโปรแกรมบนอาคารด่าน จำนวน 21 ด่าน รวมถึงที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพาวิถี (CCB 4) ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน

ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท เอฟซีลอน จำกัด วงเงิน 69,253,289 บาท ออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ กม.10+700 ของถนนพระรามที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 จนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้ทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยบรรจบกับทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น